นายชูเกียรติ โอภาสวงการ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มองสถานการ์ส่งออกข้าวไทยว่า ในปี 53 มีโอกาสค่อนข้างน้อยที่ไทยจะสามารถกลับไปส่งออกข้าวได้สูงถึง 10 ล้านตันเหมือนในปี 51 โดยคาดว่าจะมีปริมาณการส่งออกอยู่ในช่วง 8.5-9.0 ล้านตัน
หากราคาข้าวไทยยังแพงกว่าคู่แข่งมาก รวมทั้งยังไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องข้าวปลอมปนที่ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิ์โครงการรับจำนำและนำไปส่งออก จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องข้าวไทยคุณภาพตกต่ำในสายตาชาวโลก ในอนาคตอาจจะทำให้ไทยต้องเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้กับประเทศคู่แข่งที่กำลังมาแรง โดยเฉพาะเวียดนาม กัมพูชา และพม่า
"ขณะนี้ประเทศคู่แข่งด้านการส่งออกข้าว ไม่ว่าจะเป็น เวียดนาม พม่า กัมพูชา ต่างอาศัยความได้เปรียบเรื่องราคามาเป็นเฟืองจักรในการแย่งตลาดไปจากข้าวไทย เร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกหวังปั๊มตัวเลขการส่งออกเพิ่มขึ้น"นายชูเกียรติ ให้สัมภาษณ์กับ"อินโฟเควสท์"
นายชูเกียรติ คาดว่า ตัวเลขส่งออกข้าวไทยปี 52 นี้น่าจะยังทำได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี คือ 8.5 ล้านตัน ซึ่งถึงตอนนี้ก็ยังมั่นใจว่าจะทำได้ตามเป้าหมาย โดยจนถึงวันที่ 17 ธ.ค.52 เราส่งออกไปแล้ว 8.2 ล้านตัน เฉลี่ย 2.2 หมื่นตัน/วัน เพราะฉะนั้นอีก 14 วันที่เหลือก็น่าจะได้ถึง 8.5 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปี 52 ถือเป็นที่ค่อนข้างแย่ออกจะเอนไปทางตกต่ำสำหรับการส่งออกข้าวของไทย เพราะตัวเลข 8.5 ล้านตันนี้ลดลงประมาณ 15% จากปี 51 ที่ส่งออกประมาณ 10 ล้านตัน ส่วนจะกลับไปส่งออกได้ใกล้เคียง 10 ล้านตันเมื่อไหร่นั้น อยู่ที่เหตุผลเดียวคือราคาเราต้องถูกกว่านี้
"วันนี้เรายังส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่ถ้าดูจากปริมาณถือว่าลดลงมาก และเป็นประเทศเดียวที่ตัวเลขการส่งออกข้าวลดลง ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างเวียดนาม พม่า กัมพูชาต่างมีตัวเลขส่งออกข้าวขยับเพิ่มขึ้น"นายชูเกียรติ กล่าว
*เวียดนาม-พม่าไล่หลัง ห่วง 5 ปีข้างหน้าอันตราย
นายชูเกียรติ ยอมรับว่า ปีนี้ไทยประเมินคู่แข่งต่ำเกินไป เนื่องจากราคาข้าวไทยสูงมาก ความสามารถในการแข่งขันก็ด้อยเกินไป และบังเอิญคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามแข็งแรง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ประเมินว่าเวียดนามไม่น่าจะส่งออกข้าวได้เกิน 5 ล้านตันในปีนี้ แต่กลายเป็นว่าเวียดนามอาจส่งออกสูงถึง 6.3-6.4 ล้านตัน อีกทั้งส่วนต่างของราคาข้าวเวียดนามและไทยยังมากที่สุด
"เป็นเรื่องที่น่ากลัว และต้องดูกันต่อไปว่าเวียดนามจะพัฒนาการปลูกข้าวไปอย่างไรต่อ แต่ที่ผมรู้มาคือข้าวที่คนเวียดนามผลิตได้ปีละ 26 ล้านตัน ประมาณ 20 ล้านตันใช้บริโภคในประเทศ ส่วนที่เหลือจะถูกส่งออก ส่วนข้าวที่บริโภคกันในประเทศนั้นบางส่วนนำเข้ามาจากกัมพูชา คือคนเวียดนามกินข้าวเยอะและยอมกินข้าวคุณภาพต่ำ ส่วนของคุณภาพดีจะกันเอาไว้สำหรับส่งออก
แต่บ้านเรามีพื้นที่ปลูกข้าวเจ้าปีละ 39 ล้านตัน แต่ได้ผลผลิตข้าวเจ้าได้ปีละ 23 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 10 ล้านตันบริโภคในประเทศ และอีก 10 ล้านตันเพื่อส่งออก แต่เวลามีประมูลข้าวที่ไหนในโลกเรากลับแพ้เวียดนาม"นายชูเกียรติ กล่าว
ในปี 53 เวียดนามคาดการณ์ว่าจะส่งออกข้าวประมาณ 6 ล้านตัน จากปี 52 ที่คาดว่าจะส่งออกได้ 6.4 ล้านตัน ซึ่งเป็นตัวเลขก้าวกระโดดจากปี 51 ที่มีปริมาณส่งออก 4 ล้านตัน ส่วนพม่าปี 51 ส่งออก 7 แสนตัน และปี 52 ขยับเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 ล้านตัน, ขณะที่กัมพูชาปี 51 ส่งออก 4 แสนตัน พอมาปี 52 น่าจะจบที่ประมาณ 8 แสนตัน
ส่วนกรณีที่อินเดียเปลี่ยนสถานะตัวเองเป็นผู้นำเข้าข้าวนั้น เชื่อว่าตลาดอินเดียก็คงมีเพียงไทยกับเวียดนามที่จะแย่งกันเอง
"ผมยังมั่นใจว่า ใน 1-2 ปีนี้ เวียดนามคงจะยังแซงหน้าเราไม่ได้ แต่อีก 5 ปีข้างหน้าไม่แน่ เพราะตอนนี้เวียดนามผลิตข้าวได้เต็มความสามารถแล้ว แต่ถ้าจะทำให้ได้มากกว่านี้ก็ต้องปฏิวัติพื้นที่สีเขียวใหม่ทั้งประเทศเลย แต่อย่างไรก็ตามมองว่าประเทศที่น่ากลัวกว่าคือ พม่า เพราะศักยภาพการผลิตสูงมาก เพียงแต่ที่ผ่านมาทุกคนยังหลับอยู่ แต่ตั้งแต่ปีที่แล้วที่เกิดวิกฤตการณ์อาหารจนถึงปีนี้พม่าตื่นตัวเรื่องข้าวมากเพราะขายได้ราคาดีขึ้น จากเมื่อก่อนเกวียนละ 3 พันบาท มาตอนนี้ขายได้ 4-5 พัน/เกวียน รัฐบาลพม่าตื่นตัวเอาเข้าเป็นวาระแห่งชาติ และพื้นที่เพาะปลูกสมบูรณ์มากๆ"นายชูเกียรติ กล่าว
*ข้าวไทยแพง-เจอปัญหาปลอมปนบั่นทอนความสามารถการแข่งขัน
นายชูเกียรติ วิเคราะห์สาเหตุสำคัญคือ ราคาข้าวของไทยแพงกว่าคู่แข่งมาก โดยเฉพาะข้าวชนิดเดียวกันคือข้าวขาว โดยปีนี้ราคาส่งออกของไทยอยู่ที่ประมาณ 600 เหรียญ/ตัน แต่เวียดนามสามารถขายได้ในราคาถูกกว่าเราประมาณ 100 เหรียญ/ตัน บางช่วงบางขณะถูกกว่าถึง 150 เหรียญ/ตัน
ส่วนปี 53 คาดว่าระดับราคาส่งออกจะยังใกล้เคียงปีนี้ หรือ บวก/ลบประมาณ 10% ทั้งในส่วนของไทยและเวียดนาม
โดยปกติข้าวสหรัฐจะแพงกว่าข้าวไทยประมาณ 80-100 เหรียญ/ตัน และข้าวไทยแพงกว่าเวียดนามประมาณ 30-40 เหรียญ/ตัน แต่ตั้งแต่รัฐบาลไทยมีโครงการรับจำนำต่อเนื่องมาจากรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ข้าวไทยอยู่ในระดับราคาค่อนข้างสูง ขณะที่คู่แข่งยังสามารถขายข้าวในราคาเดิมหรือถูกกว่าเดิมได้
"ข้าวไทยถือว่าแพงที่สุดในโลก ทำให้ตลาดข้าวขาวซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของเราถูกเวียดนามแย่งไปเยอะ แต่ก็ยังโชคดีที่เรายังมีตลาดข้าวนึ่งที่ปีนี้อินเดียไม่ส่งออกเลย ทำให้เรายังสามารถครองแชมป์ส่งออกได้ที่ 8.5 ล้านตัน
ถ้าให้พูดกันจริงๆ โครงการรับจำนำข้าวไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกข้าวเลย เพราะว่าราคาที่รัฐบาลรับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมากถึง 20% ซึ่งถ้าจะช่วยเหลือเกษตรกรแทรกแซงราคาในตลาดถือว่าโอเค แต่ถ้าแพงกว่าราคาตลาดมาก นั่นหมายถึงว่าข้าวจะไหลไปเข้าโครงการรับจำนำของรัฐบาลหมด กลไกตลาดเสรีหายหมด เพราะเกษตรกรเลือกที่จะขายข้าวให้รัฐบาลเพราะได้ราคาดีกว่า ทำให้รัฐสิ้นเปลืองงบประมาณด้วย แล้วผลสุดท้ายรัฐบาลยังเหลือข้าวในสต็อกกว่า 6 ล้านตัน ก็ต้องมารับภาระในการระบายข้าวอีก"นายชูเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ การดันราคาข้าวของไทยสูงกว่าความเป็นจริงมาก ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ก็เป็นการส่งเสริมทางอ้อมให้ประเทศผู้ผลิตอื่นๆเพิ่มปริมาณผลผลิต ทั้งพม่า กัมพูชา และ ลาว แล้วลักลอบเข้ามาสวมสิทธิ์จำนำข้าวในไทย เช่นเดียวกับกรณีของข้าวโพด เท่ากับรัฐบาลเสียงบประมาณโดยใช่เหตุที่ไปซื้อของจากเพื่อนบ้าน
ในขณะเดียวกัน การที่มีข้าวจากแหล่งอื่นเข้ามาปนทำให้คุณภาพข้าวส่งออกของไทยแย่ลง และจะส่งผลต่อสุขอนามัย เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข้าวที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านมี GMO หรือมีสารปนเปื้อนหรือไม่ เพราะว่าถูกลักลอบนำเข้ามาจากราคาที่แตกต่างกันมากเป็นแรงจูงใจให้พ่อค้านำเข้ามาปะปนกับข้าวไทยและก็ส่งออกไปในนามข้าวไทย
ทำให้เวลานี้ต่างประเทศตั้งข้อสังเกตข้าวไทยค่อนข้างมากว่าคุณภาพมาตรฐานลดลง หลายกรณีมีสารเคมี สารตกค้างเจือปน ทั้งๆที่ เกษตรกรไม่ใช้ แต่เราก็ไม่สามารถทราบได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านใช้หรือไม่ และใช้มากน้อยแค่ไหน แต่ไม่ว่าต้นตอจะมาจากไหนแค่ก็ทำให้ข้าวไทยเสียชื่อเสียงไปแล้ว ต่างประเทศก็เริ่มไม่ค่อยยอมรับ
นายชูเกียรติ กล่าวถึงโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรว่า หลักการดีมาก เพราะรัฐบาลไม่ต้องมายุ่งกับสินค้าเลย ปล่อยให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เพียงแต่ช่วงไหนที่ราคาไม่ถึงเกณฑ์ที่รัฐบาลอยากให้เป็นรัฐบาลก็ชดเชยโดยตรงให้เกษตรกร ทำให้ตลาดไม่ถูกบิดเบือน ทำให้เราสามารถแข่งขันกับผู้ส่งออกจากที่อื่นๆได้
"ถือว่าโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรประมาณความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำ ทำให้ยังมีข้อบกพร่องให้เห็น ทั้งความไม่เข้าใจของเกษตรกรเอง หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้เองก็ตาม แต่เชื่อว่าถ้าโครงการแบบนี้อีกสักระยะปัญหาต่างๆ ก็คงได้รับการแก้ไข และคง Smooth ขึ้น"นายชูเกียรติ กล่าว
ทั้งนี้ เชื่อว่า รัฐบาลน่าจะยังคงนโยบายประกันรายได้ให้เกษตรกรต่อเนื่องไป เพียงแต่ต้องบริหารจัดการ รวมถึงการเตรียมการเรื่องการจดทะเบียน และการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงกว่านี้ และที่สำคัญควรจะทำต่อเนื่องไปทุกๆรัฐบาล เพราะเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติได้ดีทีเดียว