"ไกธ์เนอร์"เตือนแบงค์สหรัฐชะลอการปล่อยกู้อาจทำให้เศรษฐกิจตกอยู่ในความเสี่ยง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday December 23, 2009 11:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ เปิดเผยทางสถานีวิทยุแห่งชาติของสหรัฐว่า เศรษฐกิจกำลังขยายตัวในขณะนี้ แต่เตือนว่ากระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอาจเป็นไปอย่างล่าช้าหากธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐไม่กระตุ้นการปล่อยวงเงินกู้

"เศรษฐกิจสหรัฐกำลังกลับมาขยายตัวอีกครั้ง เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มใช้จ่ายมากขึ้นและภาคธุรกิจก็เริ่มกลับมาลงทุนอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 4 ขยายตัวรวดเร็วขึ้น" ไกธ์เนอร์กล่าว

ไกธ์เนอร์เชื่อว่า สหรัฐจะไม่เผชิญกับวิกฤตการณ์การเงินรอบสอง และย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐจะดำเนินการทุกด้านเท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้วิกฤตการณ์การเงินเกิดขึ้นซ้ำอีก

"จนถึงขณะนี้ ความเสี่ยงที่แท้จริงที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ก็คือการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปล่อยเงินกู้อย่างเพียงพอ ทำให้ภาคธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยาก ซึ่งทำให้ระบบเศรษฐกิจได้รับผลกระทบตามมา" ไกธ์เนอร์กล่าว

เมื่อไม่นานมานี้ไกธ์เนอร์กล่าวให้สัมภาษณ์ทางรายการ “Meet the Press" ของสถานีโทรทัศน์ NBC ว่า การที่ธนาคารพาณิชย์ชะลอการปล่อยเงินกู้ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวนั้นจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อระบบเศรษฐกิจและอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้อัตราว่างงานพุ่งขึ้นแตะระดับ 10%

"ความเสี่ยงอันใหญ่หลวงที่เรากำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้ก็คือการที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดในการปล่อยเงินกู้มากเกินไปและไม่ยอมรับความเสี่ยงเอาไว้บ้าง ผมอยากให้ธนาคารพาณิชย์เปิดกว้างเพื่อรับความเสี่ยงอีกครั้งในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งสภาพคล่องที่ลื่นไหลในระบบการเงินมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ" ไกธ์เนอร์กล่าว

กระทรวงการคลังสหรัฐเปิดเผยว่า อัตราการปล่อยเงินกู้ของสถาบันการเงินรายใหญ่ในสหรัฐที่ได้รับความช่วยเหลือจากโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (TARP) มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ร่วงลง 17% ในเดือนส.ค. เหลือเพียง 2.347 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงเป็นเวลา 3 เดือนภายในระยะเวลา 6 เดือน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ