กรมการค้าต่างประเทศ จัดเวทีสาธารณะรับมือเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้ AFTA

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 23, 2009 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส. วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศจัดเวทีสาธารณะฯ ที่จ.เชียงใหม่ เพื่อชี้แจงให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปิดตลาดสินค้าเกษตรภายใต้พันธกรณี AFTA อย่างทั่วถึง และประมวลข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนสำหรับการกำหนดแนวทางและวิธีการเปิดตลาดสินค้าเกษตรที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมากที่สุด

อนึ่ง ประเทศไทยมีข้อผูกพันภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)ซึ่งจะต้องลดภาษีนำเข้าระหว่างกันจนเหลืออัตรา 0% ในปี 53 รวมทั้งต้องยกเลิกโควตานำเข้าสินค้านั้น ๆ ด้วย ซึ่งในวันที่ 1 ม.ค.53 ไทยต้องยกเลิกโควตานำเข้าสินค้า 10 รายการ ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลือง ข้าว เมล็ดกาแฟ ชา กาแฟสำเร็จรูป น้ำนมดิบและนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย มะพร้าว เนื้อมะพร้าวแห้งและน้ำมันมะพร้าว โดยไทยต้องลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% สำหรับสินค้า 8 รายการ และเหลือ 5% สำหรับสินค้าเมล็ดกาแฟและเนื้อมะพร้าวแห้ง

จากสาเหตุดังกล่าวทำให้เกษตรกร ผู้ประกอบการผลิตและส่งออกสินค้ามีความกังวลว่า การลดภาษีและการยกเลิกโควตานำเข้าดังกล่าวอาจทำให้มีการนำเข้าเพิ่มมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการผลิตและการค้า ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตั้งแต่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข จึงได้ร่วมกันกำหนดแนวทางรองรับการเปิดตลาดเพื่อให้สามารถกำกับดูแลการนำเข้าอย่างใกล้ชิด และมีการนำเข้าเฉพาะสินค้าที่มีคุณภาพดีเท่านั้น

โดยแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การจัดระบบบริหารการนำเข้า อาทิ กำหนดให้เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตนำเข้า กำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น ข้อกำหนดปริมาณสารพิษตกค้าง ใบรับรองสุขอนามัยพืช ปลอด GMOs และมีแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นต้น การจัดทำระบบติดตามการนำเข้าและการติดตามตรวจสอบและประเมินผล

การยกเลิกโควตาและภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่ไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลกระทบจากการเปิดตลาดดังกล่าวอาจทำให้สินค้าจากอาเซียนอื่นมีต้นทุนลดลง ทั้งนี้ สินค้า 10 รายการที่ไทยจะลดภาษีลงในปี 53 เป็นสินค้าที่ไทยเป็นผู้ส่งออกเช่นกัน โดยเฉพาะข้าว ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก จึงไม่น่าจะกังวลนัก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้วางมาตรการรองรับไว้อย่างรอบคอบ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับจะมีค่อนข้างมาก เพราะมีโอกาสขยายตลาดไปสู่ประเทศในอาเซียนอื่นได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการผลิตมากกว่า สามารถนำเข้าวัตถุดิบให้โรงงานแปรรูปในราคาต่ำเป็นการลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ไทยอาจใช้ความได้เปรียบด้านเทคโนโลยีการผลิตในการเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ