นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) พัฒนาระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรของประเทศให้มีเอกภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าเกษตรของประเทศ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการผลิตสินค้าและการบริการทางการเกษตรตลอดจนการผลักดันให้เข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรแบบกลุ่ม และเข้าสู่ระบบมาตรฐานการปฎิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
เบื้องต้นจะมีโครงการนำร่องเกษตรกร 12 กลุ่ม ใน 9 จังหวัด ด้วยพืช 5 ชนิด ได้แก่ พืชผัก กล้วยไข่ มะม่วงเพื่อการส่งออก ข่าและกล้วยไม้เพื่อการส่งออก โดยมีพื้นที่ดำเนินการ 9 จังหวัด คือ เชียงใหม่ สุโขทัย ขอนแก่น นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ฉะเชิงเทรา ราชบุรี พัทลุง และสงขลา
ทั้งนี้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแผนและหารือการดำเนินการรับรอง GAP แบบกลุ่ม ในสินค้าข้าว เพื่อดำเนินการกับกลุ่มนำร่องในปี 53 เริ่มตั้งแต่ผลผลิตนาปี และแผนในปี 54-55 ได้วางแผนพัฒนาการตรวจรับรอง GAP แบบกลุ่มเพิ่มเติมเป็น 24 กลุ่มและ 30 กลุ่ม ตามลำดับ
“ในอนาคตคาดว่า 12 กลุ่มนำร่องนี้จะเป็นต้นแบบของการตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐาน GAP แบบกลุ่ม ซึ่งจะเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั่วประเทศได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนากลุ่มของตนเองเพื่อขอรับรองมาตรฐานฟาร์มต่อไปได้ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยจะมีโอกาสเข้าสู่ฟาร์มมาตรฐานเพิ่มขึ้น ถือเป็นช่องทางที่จะช่วยขยายผลและเพิ่มจำนวนแหล่งผลิตพืชที่ได้มาตรฐาน GAP มากขึ้นอย่างรวดเร็ว อันจะส่งผลให้ผลิตผลของกลุ่มเกษตรกรได้รับการยอมรับในเรื่องคุณภาพและปลอดภัยทางอาหาร ทั้งยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ขณะเดียวกันยังช่วยลดภาระภาครัฐในการตรวจรับรองฟาร์มด้วย"นายยุคล กล่าว
อนึ่ง กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยตามนโยบาย Food Safety มาตั้งแต่ปี 49 และปี 50 ได้มีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตพืชปลอดภัยตามระบบคุณภาพ GAP โดยถ่ายทอดความรู้และส่งเสริมให้เกษตรกร มีความรู้ความเข้าใจแบบรายบุคคล ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 50-52 มีเกษตรกรสมัครเข้าสู่ระบบ GAP ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 2.4 แสนราย และตั้งเป้าหมายสำหรับการดำเนินการกับ 12 กลุ่มดังกล่าวเอาไว้กลุ่มละ 30 ราย