บีโอไออนุมัติส่งเสริมลงทุนผลิตอุปกรณ์การแพทย์-ท่าจอดเรือที่ภูเก็ต

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 10:25 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)เปิดเผยว่า คณะทำงานพิจารณาโครงการได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนในกิจการเกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์การแพทย์นวัตกรรมใหม่ และท่าจอดเรือท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต 2 โครงการ รวมมูลค่าเงินลงทุน 156 ล้านบาท ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของบีโอไอ

โครงการแรกเป็นของบริษัท ภูเก็ต โออีเอ็ม จำกัด มูลค่าเงินลงทุน 76 ล้านบาท ผลิตเซอร์จิคัลเมส (Surgical Mesh) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใส่ไว้ภายในจุดที่ผ่าตัดเพื่อช่วยสมานแผล ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยวัสดุดังกล่าวจะมีคุณสมบัติพิเศษสามารถละลายเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ภายในร่างกายได้โดยไม่มีอันตราย มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 250,000 ชิ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นผลสำเร็จจากการนำเอาใยสังเคราะห์ที่ได้จากการวิจัยพัฒนาของบริษัทจากประเทศสวีเดนมาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะศึกษาภูเก็ต เพื่อนำหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องมือแพทย์บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะ หากนักศึกษาจบหลักสูตรตามเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทก็จะรับเข้าทำงานทันที ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาบุคลากรทางด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ประเทศไทยยังขาดแคลนอีกมาก

"ที่ผ่านมายังไม่มีใครได้รับส่งเสริมการผลิตวัสดุดังกล่าวที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับโครงการนี้ จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งรูปแบบของโครงการนั้น นอกจากจะเป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่สำคัญของสถาบันการศึกษาไทยที่จะได้พัฒนาแนวทางการศึกษา และผลิตบุคลากรไทย เพื่อป้อนให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ให้มีเพิ่มขึ้นอีกด้วย" นางหิรัญญา กล่าว

อีกโครงการเป็นการขยายกิจการลงทุนของบริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด ให้บริการที่จอดเรือท่องเที่ยว มูลค่าเงินลงทุน 80 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการพื้นที่จอดเรือประเภทต่างๆ เช่น เรือสำหรับท่องเที่ยว เรือสปีดโบ๊ท และลูกค้าเรือยอชต์ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และสถานที่จอดเรือแก่ลูกค้าในจังหวัดภูเก็ตมีไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเรือยอชต์ที่เข้ามาจอดประมาณ 1,000-1,500 ลำต่อปี และใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เฉลี่ยลำละประมาณ 60 วัน

โครงการนี้จะให้บริการที่จอดเรือท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้นอีก 80 ลำ จากเดิมบริษัทได้ลงทุนในกิจการดังกล่าวมาแล้ว 2 โครงการ ให้บริการที่จอดเรือแล้ว 250 ลำ และที่พัก 116 ห้อง โดยกิจการที่ได้รับส่งเสริมใหม่จะครอบคลุมการให้บริการทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถเครนยกเรือ โรงเหล็ก สำหรับซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เป็นเหล็กและสเตนเลส โรงซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำจืด และไฟฟ้า เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ