ผลผลิตข้าวนาปีภาคตะวันออกไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเพลี้ยกระโดดมากนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 14:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุนทร เหมทานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 6 (สศข.6) จังหวัดชลบุรี สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรภาคตะวันออกได้เก็บเกี่ยวข้าวนาปีเกือบครบ 100% แล้ว และพบว่าในบางพื้นที่ของจังหวัดนครนายกมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และมีหนอนม้วนใบในพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ดังกล่าวมากนัก ซึ่งหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ในระดับพื้นที่ ได้เตรียมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ปลูกข้าวนาปี ในปีการผลิต 2552/53 ของภาคตะวันออก รวม 9 จังหวัด ซึ่งมีเนื้อที่ปลูกรวม 3.10 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 5 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ โดยลดลงจากปีที่ผ่านมาเล็กน้อยร้อยละ 0.5 มีผลผลิตรวม 1.30 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.4 โดยจังหวัดที่มีเนื้อที่เพาะปลูกมากที่สุด คือ ฉะเชิงเทรา รองลงมาได้แก่ สระแก้ว ปราจีนบุรี นครนายก ชลบุรี จันทบุรี ตราด สมุทรปราการ และระยอง ตามลำดับ

ทั้งนี้ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำแผนปฏิบัติการพ่นยากำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลในนาข้าวพร้อมกันทั้งประเทศ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 27 ธันวาคม 2552 มีเป้าหมาย 18 จังหวัด แบ่งเป็น 11 ขั้นตอน โดยดำเนินการเป็น 2 ส่วน คือ กรมการข้าว ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก เป็นหน่วยงานส่วนกลางตั้งศูนย์อำนวยการควบคุมกำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเพื่อเตรียมตอบข้อซักถามให้กับเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการเฝ้าระวังติดตามประเมินผล

สำหรับส่วนภูมิภาคในแต่ละจังหวัด จะมีคณะทำงานเฉพาะกิจระดับจังหวัดและระดับอำเภอ พร้อมรับสถานการณ์ระดมการช่วยเหลือได้ทันที

ด้านทิศทางของข้าวในปี 53 คาดว่า ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้จะมีแนวโน้มที่ดี และขายได้ดีต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอน เพราะหลายประเทศเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติทำให้ผลผลิตเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตข้าวในตลาดโลกมีปริมาณลดลง จึงเป็นโอกาสที่ดีของชาวนาไทย เนื่องจากสภาพดิน ฟ้า อากาศของไทยไม่รุนแรงเหมือนกับประเทศคู่แข่ง

อีกทั้งกระแสการตอบรับที่ดีจากเกษตรกรในโครงการประกันรายได้ของรัฐบาล และกำลังดำเนินการให้มีโครงการสำหรับผลผลิตข้าวรอบสอง (ข้าวนาปรัง) ซึ่งจะดำเนินการเช่นเดียวกับข้าวนาปีอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นเกษตรกรควรเร่งปรับปรุงพื้นที่ และเพิ่มการดูแลรักษาเฝ้าระวังศัตรูพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ