นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง ผู้รับสัมปทานโครงการทางยกระดับอุตราภิมุข(ดอนเมืองโทลล์เวย์) ระบุว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีตเป็นเพราะฝ่ายรัฐทำผิดสัญญา ส่งผลให้การปรับอัตราค่าผ่านทางไม่เป็นไปตามสัญญา ซึ่งนำมาสู่การแก้ไขสัญญาในปี 39 และปี 50 รวมถึงการขยายโครงสร้างการปรับค่าผ่านทาง เพื่อชดเชยภาระขาดทุนที่เกิดขึ้น
สำหรับการแก้ไขสัญญาในปี 39 เป็นผลจากการที่ภาครัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในเดือน ธ.ค.38 ตามที่กำหนด บริษัทจึงได้รับการขยายอายุสัมปทานต่อไปอีก 7 ปี จนถึงปี 64 จากเดิมที่สัญญาจะสิ้นสุดในปี 57 ซึ่งบริษัทยังได้ลงทุนเพิ่มอีก 4,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างส่วนต่อขยายจากดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน
หลังจากนั้นภาครัฐยังทำผิดสัญญาอีกครั้ง โดยในข้อตกลงการแก้ไขสัญญาปี 39 กำหนดว่าอัตราค่าผ่านทางในช่วงกลางปี 42 จะต้องปรับเพิ่มเป็น 55 บาทตลอดสาย จากเดิม 43 บาทตลอดสาย สำหรับรถ 4 ล้อ แต่รัฐบาลในขณะนั้นไม่อนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางตามข้อตกลง และต่อมาในช่วงกลางปี 47 บริษัทจะต้องปรับค่าผ่านทางอีกครั้งเป็น 70 บาทตลอดสาย แต่รัฐบาลไม่อนุมัติอีกเช่นกัน
นอกจากนี้ในปี 48 รัฐบาลยังขอให้บริษัทปรับลดค่าผ่านทางเหลือ 20 บาทตลอดสาย ในปี 49-50 ให้ปรับเพิ่มเป็น 30 บาทตลอดสาย ส่วนในปี 51 อัตราค่าผ่านทางตามข้อตกลงคือ 70 บาทตลอดสาย แต่ได้รับอนุมัติให้จัดเก็บ 55 บาทตลอดสาย และตั้งแต่กลางปี 52 อัตราค่าผ่านทางตามสัญญาคือ 85 บาทตลอดสาย
"การแก้ไขสัญญาครั้งต่อมาในปี 50 ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการไม่ได้รับอนุมัติให้ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา และปัญหาส่วนอื่นที่รัฐเป็นฝ่ายทำผิดสัญญา คิดเป็นมูลค่ารวม 15,000 ล้านบาท ซึ่งนำมาสู่การขยายอายุสัญญาเพิ่มอีก 13 ปี จนถึงปี 77 รวมทั้งการปรับค่าผ่านทางตามอัตราที่เรียกเก็บในปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา" นายธานินทร์ กล่าว