นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการไฟฟ้า(เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.53 พบว่า ต้นทุนค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นประมาณ 33 สตางค์ จากอัตราค่าเอฟทีปัจจุบันที่ 92.55 สต./หน่วย ทำให้ต้นทุนค่าเอฟทีที่แท้จริงอยู่ที่ 126.04 สตางค์/หน่วย
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าจนถึงส.ค.53 และ กฟผ.ได้เสนอให้มีการตรึงค่าเอฟทีในอัตราดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จึงเห็นชอบตามข้อเสนอ กฟผ. และจะมีการเผยแพร่และจัดฟังความคิดเห็นประชาชนผ่านเว็บไซต์ของ กกพ.ก่อนประกาศเป็นค่าเอฟทีที่แท้จริงต่อไป
สำหรับภาระต้นทุนเอฟทีที่เพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 225.19 บาท/ล้านบีทียูในช่วงเดือนก.ย.-ธ.ค.52 เป็น 235.6 บาท/ล้านบีทียูในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย.53, ราคาน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นจาก 65.3 -67.4 ดอลลาร์/บาร์เรล เป็น 72-72.9 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น จาก 34.50 บาท/ดอลลาร์ เป็น 33.50 บาท/ดอลลาร์ ทำให้ต้นทุนไม่เพิ่มสูงมากนัก ส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าโดยรวมคาดว่าจะสูงขึ้นตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมาได้มีการตรึงค่าเอฟทีมาตั้งแต่ปลายปี 52 เป็นวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยบางช่วงที่ต้นทุนลดลงเมื่อรวมกับยอดสะสมที่เกิดจากความแตกต่างระหว่างเอฟทีที่คำนวณได้กับการเรียกเก็บช่วงที่ผ่านมา ทำให้ กฟผ.มีรายได้ค้างรับส่งผลให้ภาระทางการเงินของ กฟผ.ลดลงเหลือ 15,003 ล้านบาท
ทั้งนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปี 53 มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน อาจทำให้การแบกรับภาระของ กฟผ.จากเดิมที่คาดว่าจะหมดลงในปลายปี 53 อาจยังไม่หมดไป ซึ่ง กกพ.ก็จะพิจารณาผลกระทบดังกล่าวต่อไป