กระทรวงการคลัง คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ของไทยในปี 53 ว่าจะเติบโต 3.5% จากในปี 52 ที่คาดว่าจะติดลบ 2.8% โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจปีหน้า คือ งบประมาณภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง และการใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นรวมถึงเศรษฐกิจโลก ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่สูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก และการจ้างงานที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จะช่วยให้การใช้จ่ายภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
"แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวชัดเจนในช่วงท้ายปี 2552 และแรงส่งเชิงนโยบายต่อเนื่องไปยังปี 2553 จากการใช้จ่ายของภาครัฐผ่านแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวขึ้นในปี 2553" นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มาจากความเปราะบางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และความล่าช้าในการแก้ปัญหาการระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุด รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกระทบให้ภาคเอกชนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด
ดังนั้น ภาครัฐยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเบิกจ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมายในช่วงที่เอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และต้องเร่งผลักดันให้ภาคเอกชนกลับมาเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเร็ว
ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า การประมาณการเศรษฐกิจดังกล่าวได้รวมผลกระทบของปัญหาการระงับการลงทุนในเขตมาบตาพุดไว้แล้ว โดยหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาการลงทุนในเขตมาบตาพุดได้อย่างรวดเร็ว และสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งให้ได้ไม่ต่ำกว่า 80% ของกรอบวงเงินอนุมัติ รวมทั้ง สามารถสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองให้มั่นคง ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยน่าจะมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในกรณีสูงของช่วงคาดการณ์ที่ 4%
ส่วนเศรษฐกิจไทยในปี 52 คาดว่าจะหดตัวน้อยลงเหลือเพียง -2.8% ดีขึ้นกว่าที่ประมาณการไว้เดิมในเดือนก.ย.52 ที่ -3.0%โดยแม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี แต่จากการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ และการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจคู่ค้า ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวเป็นบวกในไตรมาสสุดท้ายเมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า การใช้จ่ายภาคเอกชนในปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 52 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 53 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.4% ตามราคาน้ำมัน ราคาสินค้าและบริการที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 52
ส่วนเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 3.3% ของ GDP เนื่องจากการนำเข้าที่คาดว่าจะเร่งตัวสูงขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นมากกว่ามูลค่าการส่งออก โดยคาดว่ามูลค่าสินค้าส่งออกในปี 53 จะขยายตัว 15.5% ต่อปี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก ในขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 27.7% ต่อปี ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก