(เพิ่มเติม) ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองปี 53 เป็นปีแห่งความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน-ดอกเบี้ย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 28, 2009 15:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดเศรษฐกิจไทยปี 53 จะขยายตัวที่ 3% หรืออยู่ในกรอบ 2.5-3.5% จากปี 52 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 3.1% ขณะที่มองแนวโน้มเงินเฟ้อปีหน้าจะปรับสูงขึ้น จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าสูงขึ้นมาเฉลี่ยอยู่ที่ 80-85 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเป็นบวก แต่อยู่ในอัตราที่สูงขึ้นไม่มากนัก

ขณะที่มองว่าปัจจัยเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)โดยมองว่าในปี 53 ธปท.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวม 0.75% ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม แต่การปรับขึ้นของธนาคารพาณิชย์ก็จะต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในระบบด้วย

"ศูนย์วิจัยฯ มองว่าในปี 53 จะเป็นปีผันผวนของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐที่คาดว่าจะดีขึ้นอาจจะไม่เป็นไปตามที่คาด"นายเชาวน์ กล่าว

จากที่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ดี คาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 53 ดังนั้น จึงเป็นแรงกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินสกุลภูมิภาคเอเชีย รวมถึงเงินบาทแข็งค่า โดยคาดว่าเงินบาทในปีหน้ามีแนวโน้มแข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 31.50 บาท/ดอลลาร์ จากปี 52 อยู่ที่เฉลี่ย 33.70 บาท/ดอลลาร์

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะฟองสบู่ในประเทศแถบเอเชียที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้นอย่างร้อนแรง ซึ่งอาจทำให้หลายประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลี และออสเตรเลีย มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเมื่อถึงจุดที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มทรงตัว และเฟดเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจทำให้ตลาดเกิดความผันผวน ซึ่งอาจจะมีการเทขายทำกำไรเงินสกุลเอเชียและลงทุนในเงินดอลลาร์สหรัฐ

*มองปี 53 ศก.ผงกหัว-"ไทยเข้มแข็ง"กระตุ้นระยะกลาง-ยาว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าในปี 53 การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว 1.2-2.3% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ 3-5% ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 9-12% การนำเข้าขยายตัว 19-23% ซึ่งจะส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 9,000-18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.0-1.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) 1.5 -2.5% และเงินเฟ้อ(CPI)อยู่ที่ประมาณ 3-4%

ปัจจัยบวกที่คาดว่าช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว มองว่าสภาพคล่องโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจยังคงนโยบายการคลังแบบขาดดุล เพื่อใช้ในการประคองเศรษฐกิจต่อไป โดยปัจจัยหลักที่หนุนการฟื้นตัวหลักมาจากการใช้จ่ายเงินภาครัฐภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง แต่ยังมีความกังวลว่าการลงทุนในโครงการดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งอาจทำให้การเบิกจ่ายเงินไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังมีปัญหากรณีดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม อย่างกรณีมาบตาพุด ซึ่งหลายสถาบันประเมินว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยประมาณ 0.5% ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการแก้ปัญหา ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้มีความชัดเจนภายใน 6-8 เดือน แต่ปัจจัยที่ยังทำให้สบายใจ คือ ผู้บริโภคยังรอการใช้จ่าย เนื่องจากดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะครึ่งแรกปี 53 ที่ยังเอื้อการใช้จ่ายของประชาชน

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปี 53 ยังมีปัจจัยลบเรื่องการปรับราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ และ ภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากปี 52 สัญญาณการเกิดฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ในหลายประเทศของเอเชีย เนื่องจากเห็นได้ว่าราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ รวมทั้ง ปัญหาทางกาคลังและเครดิตเรตติ้งของบางประเทศยังเป็นปัจจัยลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ไทยมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง

นายเชาวน์ ยังกล่าวว่า จากการทำงานในช่วง 1 ปีผ่านมา เห็นว่ารัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว ผ่านโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่ใหญ่ แต่ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากการความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลอาจทำให้การดำเนินโครงการดังกล่าวเกิดความล่าช้า เพราะมีอุปสรรคตามระบบกลไกทางการเมือง

"มองว่า โครงการไทยเข้มแข็งจะเป็นบททดสอบสำคัญของรัฐบาล ได้พิสูจน์การทำงานข้ามปีจนถึงปี 55 ซึ่งทุกคนต่างจับตดูว่า รัฐบาลจะสามารถทำงานได้ตามที่วางเป้าหมายได้หรือไม่ เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่มีความหมาย และมีความท้าทาย เป็นโครงการที่วางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ"นายเชาวน์ กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ