นักวิชาการ มองเงินเฟ้อปี 53 เร่งตัวตามสินค้าเกษตร-น้ำมันสูง และฐานต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2009 09:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิชาการ-สถาบันการเงิน คาดอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.52 เร่งตัวขึ้นราว 3-4% จากเหตุผลทางเทคนิคที่ฐานต่ำในปีก่อน ไม่ใช่จากราคาสินค้าปรับสูงขึ้น ส่วนทั้งปี 52 เชื่อเงินเฟ้อติดลบไม่เกิน 1% พร้อมมองแนวโน้มปี 53 เงินเฟ้ออยู่ในช่วง 3-5.5% จับตาปัจจัยสำคัญดันเงินเฟ้อพุ่งจากราคาสินค้าเกษตรและราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว รวมทั้งการลดระดับมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน

             สถาบัน                เงินเฟ้อ ธ.ค.52       เงินเฟ้อปี 52         เงินเฟ้อปี 53

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด           3.0%              -0.8%              3-4%
          ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ          3.8%          -0.8 ถึง -0.9%          4-5%
          สถาบันวิจัยนครหลวงไทย           3.9%              -0.77%             3.25%
          มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย        2.0-2.5%        -0.9 ถึง -1.0%          3-4%
          คณะกรรมการนโยบายการเงิน       3-4%              -0.8%            3.5-5.5%

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า อัตราเงินเฟ้อ(CPI) ในเดือน ธ.ค.52 จะเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 3% ซึ่งเป็นการฟื้นตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในรอบปีนี้นับตั้งแต่เดือน ต.ค.52

เหตุที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3% เนื่องจากฐานเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.51 อยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้ดูเหมือนว่าเงินเฟ้อพุ่งขึ้นมาก ในขณะเดือน พ.ย.52 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 1.9% และเดือนต.ค.52 เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% อย่างไรก็ดี แม้จะดูว่าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเป็นเพียงเรื่องทางเทคนิคเท่านั้น แต่ในความจริงแล้วราคาสินค้ายังไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะราคาน้ำมันในเดือน ธ.ค.อยู่ในระดับต่ำกว่าเดือนก่อนหน้า

"เดือน ธ.ค.เราคาดว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% เพราะฐานปีก่อนต่ำ ในแง่ของแรงกดดันด้านราคาสินค้าต่อผู้บริโภคยังมีค่อนข้างน้อย เพราะถ้าเทียบปีต่อปีอาจเกิน 3% แต่เทียบเดือนต่อเดือนคงขยับแค่ 1% ระดับราคาน้ำมันเดือนนี้(ธ.ค.)เมื่อเทียบกับเดือนที่แล้ว(พ.ย.)น่าจะต่ำลง ซึ่งน่าจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อในขณะนี้มีไม่มาก แม้ตัวเลขอาจจะดูสูงถึง 3%" นางพิมลวรรณ กล่าว

พร้อมทั้ง คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้จะติดลบที่ 0.8%

ส่วนทิศทางเงินเฟ้อปี 53 คาดว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3-4% โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสูง รวมทั้งสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าวัตถุดิบที่อาจจะมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นหลังเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่วนการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพออกไปอีก 3 เดือน มีผลทำให้ระดับเงินเฟ้ออ่อนลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้เดิม แต่ยังต้องติดตามว่าเมื่อครบ 3 เดือนแล้วรัฐบาลจะยังคงมาตรการนี้ไว้หรือไม่หากเศรษฐกิจมีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจนแล้ว

"เงินเฟ้อปี 53 มีปัจจัยเรื่องราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก เช่น ข้าว น้ำตาล มัน ยาง ตลอดจนสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำมัน วัตถุดิบ ซึ่งปีหน้าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจนน่าจะดันราคาขึ้นไปในระดับที่เร็วกว่าขณะนี้ จึงเป็นหลายปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อปีหน้าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ปีหน้ามองไว้ 3-4%"นางพิมลวรรณ กล่าว

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ คาดว่า อัตราเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.52 จะอยู่ที่ประมาณ 3.5-4.0% หรือเฉลี่ยราว 3.8% เหตุที่เพิ่มขึ้นมากเนื่องจากเทียบฐานปีก่อนที่อยู่ในระดับต่ำ และราคาน้ำมันสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับราคาในเดือน ธ.ค.51

"ฐานเงินเฟ้อปีก่อนต่ำ และราคาน้ำมันเมื่อเทียบ year on year ตอนนี้ก็สูงกว่าปีที่แล้ว รวมถึงยังมีมาตรการภาครัฐอีกตัว ซึ่งยังทำให้เงินเฟ้อไม่สูงมากไปกว่านี้ ทั้งๆ ที่น่าจะสูงกว่านี้ถ้าหากไม่มีมาตรการ"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 คาดว่าจะติดลบราว 0.8-0.9% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ว่าทั้งปีจะติดลบ 0.8% โดยปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันที่ลดลงในช่วงต้นปี มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน รวมทั้งนโยบายเรียนฟรีที่มีส่วนช่วยดึงเงินเฟ้อไม่สูงมากไปกว่าระดับที่คาด

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อปี 53 ต้องจับตาราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นหลัก และราคาสินค้าหมวดอาหารโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวตามปัจจัยราคาน้ำมัน ซึ่งคาดว่าปีหน้าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 4-5% ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่สูงเกินไปกว่า 90 ดอลลาร์/บาร์เรล

"มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพที่ปรับน้อยลงและเมื่อเทียบฐานต่ำปีนี้ ปีหน้าเงินเฟ้อคงอยู่ที่ 4-5% มองว่ากำลังซื้อของประชาชนยังไม่เข้มแข็งมาก ไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงเกิน 5% แต่หากราคาน้ำมันสูงเกินกว่า 90 ก็มีโอกาสขึ้นไปถึง 6% ได้"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ด้านสถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) ประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.52 คาดว่าจะยังคงมีการปรับตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือน พ.ย.เนื่องจากฐานของระดับราคาสินค้าในหลายชนิดที่มีทิศทางแตกต่างกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะระดับราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศของไทยในช่วงไตรมาส 4 ที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากระหว่างช่วงปี 51 และ 52 ประกอบกับแนวโน้มของการกลับมาขยายตัวของการบริโภคของภาคเอกชนในช่วงปลายปีที่คาดว่ายังมีสัญญาณของการกลับมาฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น

SCRI เชื่อว่าในระยะสั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้ประกอบการรวมไปถึงผู้ผลิตสินค้า จะมีการปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่มีการปรับตัวเร่งขึ้น จากปัจจัยต่างๆ ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.52 จะอยู่ที่ 3.9%

ขณะที่เฉลี่ยตลอดช่วงไตรมาส 4/52 ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถกลับมาขยายตัวเป็นบวกในระดับ 2.1% และประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยปี 52 ยังคงหดตัวลง 0.77% จากในปีก่อน

ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 53 คาดว่าทิศทางโดยรวมจะขยายตัวขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีปัจจัยจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่จะมีทิศทางกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มจะกลับมาปรับตัวเร่งขึ้นอีกครั้งโดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% จากในปี 52 ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการไทยเข้มแข็ง

รวมถึงการประเมินว่าจะมีเม็ดเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ FED รวมถึงธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ยาวนานกว่าที่คาด ซึ่งโดยรวมจะส่งผลให้สภาพคล่องในประเทศจะมีการขยายตัวอย่างชัดเจน ดังนั้น จากปัจจัยต่างๆ คาดว่าปี 53 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.25% จากปีนี้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.52 จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 2.0-2.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเศรษฐกิจในช่วงนี้เริ่มฟื้นตัว ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นบ้าง เพราะใกล้ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น

ส่วนทั้งปี 52 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณติดลบ 0.9% ถึงลบ 1%

สำหรับแนวโน้มในปี 53 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับ 3-5% จากเดิมที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ คาดว่าจะอยู่ที่ 3-4% เนื่องจากรัฐบาลจะยกเลิก 5 มาตรการลดค่าครองชีพในราวเดือนเม.ย.53 ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคมีแนวโน้มจะปรับขึ้นหลังจากพ้นระยะเวลาที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือผู้ประกอบการตรึงราคาสินค้าจนถึงสิ้นปี 52

นอกจากนี้ราคาพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นจากภาวะอากาศที่ผันผวน คาดว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะปรับขึ้นไปที่ 75-80 ดอลลาร์/บาร์เรล และเฉลี่ยทั้งปี 53 ที่ 80-85 ดอลลาร์/บาร์เรล จากปีนี้เฉลี่ยที่ 65 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศสูงขึ้นจากปีก่อนราว 4-5 บาท/ลิตร และทำให้ราคาพืชพลังงานทดแทนทั้งปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย สูงขึ้นตาม

"ปีหน้าราคาน้ำมัน ราคาสินค้ามีแนวโน้มสูงขึ้น และประชาชนมั่นใจจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น น่าจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นได้ประมาณ 3-5% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.5-2.7% เมื่อแนวโน้มเงินเฟ้อสูงขึ้นแบงก์ชาติน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อในราวไตรมาส 2 หลังรัฐยกเลิก 5 มาตรการลดค่าครองชีพประชาชน" นายธนวรรธน์ กล่าว

ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงปลายปี 52 จะเร่งตัวเร็วขึ้นถึง 3-4% และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 53 หลังจากที่ติดลบมาเกือบตลอดทั้งปี 52 ซึ่งการเร่งตัวขึ้นนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราวอันมีผลจากราคาน้ำมันที่ปรบลดลงอย่างรวดเร็วในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ กนง.ประเมินว่าการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในช่วงนี้จะเป็นเรื่องชั่วคราว ต่อจากนั้นจะเคลื่อนไหวในช่วง 2-4% ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นไม่ได้สะท้อนแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จนทำให้ผู้ผลิตปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการอย่างกว้างขวาง แต่เป็นผลจากระดับราคาน้ำมันในปัจจุบันที่อยู่สูงกว่าราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงเดียวกันของปีก่อน

"การที่เงินเฟ้อเร่งตัวเร็วขึ้นจะเกิดขึ้นเฉพาะช่วงไตรมาสแรกปี 53 แต่ต่อจากนั้นคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 2-4% เนื่องจากเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของราคาน้ำมันในปี 53 เมื่อเทียบกับปี 52 คาดว่าจะไม่ต่างกันจนมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปมากดังเช่นปีที่ผ่านมา" เอกสารเผยแพร่จากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุ

กนง.คาดว่า ทั้งปี 52 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะหดตัว 0.8% ขณะที่ปี 53 จะขยายตัว 3.5-5.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ