รัฐจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจรูปแบบ Cluster วางระบบปลูกพืชเพื่ออาหาร-พลังงานทดแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2009 09:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

3 กระทรวงของไทย คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำเขตเกษตรเศรษฐกิจเพื่ออาหาร พลังงาน และอุตสาหกรรมของประเทศไทย(Zoning)เพื่อบูรณาการการพัฒนาด้านพลังงาน อาหาร อุตสาหกรรม และจัดการทรัพยากรที่ดินและเขตชลประทานด้วยการจัดแบ่งเขตหรือโซนนิ่งพื้นที่บนพื้นฐานของความสมดุลอย่างยั่งยืน โดยจะมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยง

เบื้องต้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการภายในเดือน ม.ค.53 ประกอบด้วยผู้แทนจาก 4 หน่วยงานข้างต้น รวมทั้งภาคเอกชน และเกษตรกร เพื่อบริหารจัดการ กำหนดนโยบายและแผนโซนนิ่งอย่างจริงจัง รวมทั้งสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ และดำเนินการประเด็นเร่งด่วนในการสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องโซนนิ่ง ทั้งผลดีผลเสีย ความแตกต่างระหว่างพื้นที่ในและนอกเขตโซนนิ่ง ประกอบการตัดสินใจของเกษตรกร เนื่องจากเห็นชัดเจนว่าการขาดข้อมูลที่ดีพอส่งผลให้การจัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจการเกษตรในอดีตที่ผ่านมาไม่ประสบผลเป็นรูปธรรม

โครงการดังกล่าวอาจนำร่องใน 3 พืช ได้แก่ มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นทั้งพืชพลังงานทดแทนและพืชอาหารในตัวเดียวกัน ซึ่งทั้ง 3 กระทรวงจะสามารถเข้ามาดูแลการเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่ กล่าวคือ กระทรวงเกษตรฯ ดูแลด้านการผลิต เรื่องผลผลิตในเบื้องต้นและคุณภาพ เนื่องจากการเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรเป็นเรื่องยาก จึงต้องมุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้นทั้งปริมาณและคุณภาพ ประกอบกับ ปัจจุบันการผลิตเพื่อพลังงานจะใช้ส่วนเหลือจากการใช้เพื่อบริโภค แต่ในอนาคตแน่นอนว่าความต้องการใช้ย่อมมีสูงขึ้นทั้งสองส่วน จึงจำเป็นต้องจัดพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้กระทบกับแหล่งการผลิตอาหาร

หลังจากนั้นกระทรวงพลังงานจะเข้ามารับช่วงต่อด้วยการทำ Contract Farming หรือทำข้อตกลงกับกระทรวงเกษตรฯ ว่าต้องการผลผลิตจำนวนเท่าไหร่ กระทรวงเกษตรฯจะได้จัดการพื้นที่เพาะปลูกไม่ให้กระทบเรื่องของแหล่งผลิตอาหาร เช่นเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมก็จะเข้ามาดูแลในเรื่องโรงงาน มาตรฐานของโรงงานแปรรูปให้อยู่ใกล้กับแหล่งผลิตหรือเทคโนโลยีการขนส่ง

*ก้าวสำคัญตั้ง cluster สอดรับยุคพลังงานทดแทน

การจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว เพราะเป็นความพยายามของกระทรวงเกษตรและสหรณ์ในการทำให้เกิดพระราชบัญญัติของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเกี่ยวกับการจัดเขตเศรษฐกิจ และเคยมีการประกาศเขตเศรษฐกิจมาบางแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่สำเร็จเป็นรูปร่าง เนื่องจากยังไม่มีการกำหนดพื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกพืช หรือดำเนินการใดๆ ที่มีเงื่อนไขหรือวิธีการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม

มาวันนี้ วันที่น้ำมันกำลังจะกลายเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถจัดหาได้ยากลำบากมากขึ้น และแนวโน้มราคาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนเริ่มนึกถึงพลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการใช้ผลผลิตพืชพลังงาน 3 ชนิด คือ มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน ก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะมันสำปะหลังและอ้อยนำไปทำเอทานอล ส่วนปาล์มน้ำมันนำไปทำไบโอดีเซล

แต่ที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะใช้พื้นที่ทับซ้อนระหว่างการปลูกพืชเพื่อใช้เป็นอาหารและปลูกเพื่อใช้ผลิตพลังงานทดแทน รวมถึงที่ผ่านมาเกษตรกรในบ้านเราส่วนใหญ่ปลูกพืชตามใจ ตามความต้องการของตัวเอง โดยมีราคาสินค้าเกษตรในแต่ละช่วงเป็นแรงจูงใจ เช่น บางช่วงข้าวโพดราคาดี ก็จะแห่กันปลูกข้าวโพด แต่พอช่วงไหนข้าวโพดราคาตก แต่อ้อยราคาดีกว่าก็จะเปลี่ยนจากปลูกข้าวโพดมาปลูกอ้อยแทน จนบางครั้งบางช่วงเกิดปัญหาซัพพลายล้นตลาดและทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพและราคาผลผลิตตกต่ำตามมา

แต่หากมีการจัดแบ่งพื้นที่เป็นเขตเศรษฐกิจการเกษตรกำหนดเขตพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง พื้นที่ปลูกข้าวโพด พื้นที่ปลูกอ้อยให้ชัดเจน โดยกำหนดพื้นที่ในการแปรรูปของกลุ่มอุตสาหกรรม อย่างเช่น โรงงานอ้อยกับพื้นที่ปลูกอ้อย โรงงานที่ทำเอทานอลกับพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง และในส่วนของโรงานปาล์มน้ำมัน ก็จะอยู่ในส่วนของพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน กำหนดให้เป็น Cluster ที่ชัดเจนว่าพื้นที่ตรงไหนของประเทศไทยเหมาะสมที่จะปลูกพืชอะไรและจัดสร้างโรงงานให้เข้าไปใกล้กับจุดนั้น เพื่อลดระยะเวลาการขนส่ง ก็จะเกิดเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจสูง เพราะในส่วนของกระทวงเกษตรฯมีระบบชลประทานดูแลระบบน้ำเกี่ยวกับการเกษตร จากพื้นที่การเกษตรมีอยู่ 132 ล้านไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 28.30 ล้านไร่ มีกรมพัฒนาที่ดินที่สามารถตรวจสอบดินทั้งประเทศและสามารถบอกได้ว่าดินของประเทศตอนนี้ดินส่วนไหนเหมาะที่จะปลูกพืชอะไร ทำให้สามารถกำหนดพื้นที่เพาะปลูกเพื่อป้อนให้กับความต้องการของตลาดได้

ด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวเสริมว่า วันนี้เรื่องของพลังงานทดแทน คนอาจจะยังตื่นตัวไม่มาก แต่อีก 15 ปีข้างหน้าเราจะหาน้ำมันใช้ได้ยากขึ้นมาก ราคาก็จะสูงขึ้นกว่าทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทนเสียตั้งแต่วันนี้ กระตุ้นและส่งเสริมการใช้เอทานอล และไบโอดีเซลอย่างเป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นการจัดโซนนิ่งการปลูกพืชจึงเป็นเรื่องจำเป็น จะได้ไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในวันข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม วันนี้พืชพลังงานที่คนไทยรู้จักมีเพียง 3 ชนิด คือ มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน แต่จากการศึกษาพบว่ายังมีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถนำไปต่อยอดทดลองและพัฒนาเป็นพลังงานทดแทนได้อีก เช่น สาหร่าย เซลลูโลส หรือแม้แต่สบู่ดำ ซึ่งเป็นเรื่องที่อาจต้องอาศัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดำเนินการเรื่องการวิจัย ค้นและพัฒนา

*คาดกาณณ์ผลผลิต-การตลาด มันสำปะหลัง-ปาล์ม-น้ำตาล ปี 53

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประเมินแนวโน้มผลผลิตและการตลาดมันสำปะหลังปี 53 คาดว่าจะมีพื้นที่เก็บเกี่ยว 7.66 ล้านไร่ ผลผลิต 25.03 ล้านตันและผลผลิตต่อไร่ 3.27 ตัน เทียบกับปี 52 ที่มีพื้นที่เก็บเกี่ยว 8.29 ล้านไร่ ผลผลิต 30.09 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3.63 ตัน ลดลงคิดเป็น 7.60%, 16.82% และ 9.92% ตามลำดับ เนื่องจากการระบาดของเพลี้ยแป้งในแปลงมันอายุน้อย เกษตรกรจึงได้ไถทิ้งและปลูกข้าวโพดแทนเพื่อตัดวงจรเพลี้ย และบางรายปลูกอ้อยแทน

ด้านการตลาดในปี 53 คาดว่าความต้องการใช้ในประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 9.18 ล้านตันหัวมันสด จาก 9.01 ล้านตันมันสดในปี 52 ทั้งเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ผลิตเอทานอล และเพื่อการส่งออก

ขณะที่อ้อยและปาล์มน้ำมันก็มีแนวโน้มความต้องการใช้สูงขึ้นกว่าปัจจุบันเช่นกัน โดยในส่วนของอ้อย คาดว่าการบริโภคน้ำตาลของโลกในปีการผลิต 52/53 คาดว่าจะมีปริมาณ 167.4 ล้านตัน(น้ำตาลทรายดิบ)เพิ่มขึ้นจาก 164.6 ล้านตัน(น้ำตาลทรายดิบ)ในปีการผลิต 51/52 หรือเพิ่มขึ้น 1.7% โดยการบริโภคที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นการเพิ่มขึ้นของการบริโภคในกลุ่มประเทศเอเซีย เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อียิปต์ และอิหร่าน เช่นเดิม

ด้านการส่งออกน้ำตาลของโลกปีการผลิต 52/53 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 520 ล้านตัน(น้ำตาลทรายดิบ) จากปริมาณ 50.9 ล้านตัน ของปีการผลิต 51/52 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ขณะที่การนำเข้าน้ำตาลของโลกปีการผลิต 52/53 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 51.9 ล้านตัน (น้ำตาลทรายดิบ) จากปริมาณ 51.0 ล้านตันของปีการผลิต 51/52 หรือเพิ่มขึ้น 1.8%

ส่วนปาล์มน้ำมัน ในปี 53 คาดว่าความต้องการใช้ของโลกอยู่ที่ 43.98 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 41.60 ล้านตันในปี 52 หรือ 5.72% เนื่องจากความต้องการทั้งด้านอาหารและด้านพลังงานทดแทนมีมากขึ้น ส่วนด้านการส่งออกของโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 35.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 33.92 ล้านตันในปี 52 หรือ 3.45% ส่วนการนำเข้าคาดว่ามี 34.15 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 33.29 ล้านตันในปี 52

ในระดับประเทศไทย คาดว่าปี 53 พื้นที่การเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมันประมาณ 3.53 ล้านไร่ ผลผลิต 10.49 ล้านตัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ 1,974 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปี 52 ราว 10.31%, 21.84% และ 10.39% ตามลำดับ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันในพื้นที่ที่มีศักยภาพเพื่อทดแทนพลังงานน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ ราคาผลปาล์มที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกษตรกรมีการดูแลรักษาปาล์มน้ำมันดีขึ้นและสภาพดินฟ้าอากาศที่เอื้ออำนวย

ด้านความต้องการใช้เพื่อการบริโภคปี 53 คาดว่าจะมีประมาณ 920,000 ตัน และความต้องการเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตไบโอดีเซล 460,000 ตัน รวมทั้งสิ้น 1,380,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 1,274,937 ตันในปี 52 คิดเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น 8.24%

ส่วนเรื่องราคาคาดว่าผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มจะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 52 ไม่ต่ำกว่า 3.50 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA)ที่ไทยต้องลดภาษีการนำเข้าปาล์มน้ำมันเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 เป็นต้นไป

จากตัวเลขต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ว่าความต้องการใช้พืชพลังงานมีมากแค่ไหน หากประเทศไทยสามารถจัดเขตเกษตรเศรษฐกิจได้บรรลุตามเป้าหมาย หรือได้มีการเริ่มต้นอย่างจริงจัง อีกไม่นานไทยคงจะมีพลังงานทดแทนไว้ใช้แทนน้ำมัน และสามารถช่วยให้ประเทศไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อนำเข้าน้ำมัน แต่สามารถนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในด้านอื่นๆให้ดียิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ