หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์พลังงาน บมจ. ไทยออยล์(TOP)คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 53 เฉลี่ยอยู่ที่ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล สูงขึ้นจากราคาเฉลี่ยในปี 52 ที่อยู่ในระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันของโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูงเริ่มปรับลดลง
การเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบน่าจะยังคงผันผวน เป็นผลจากอุปสงค์น้ำมันสำเร็จรูปที่การใช้น้ำมันของโลกในปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยสำนักงานพลังงานสากลประมาณการความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปีหน้าจะอยู่ที่เฉลี่ย 86.32 ล้านบาร์เรล/วัน ปรับเพิ่มขึ้น 1.47 ล้านบาร์เรล/วันจากปี 52 ส่วนใหญ่มาจากประเทศที่กำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ และยุโรป แม้ว่าจะกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่ก็ปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนักและยังต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าความต้องการใช้จะกลับมาสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้ง
ส่วนอุปทานน้ำมันดิบและบทบาทของโอเปก กำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดคาดว่าจะยังคงมีอยู่ แต่จะค่อยๆ เข้าสู่ภาวะสมดุลเมื่อความต้องการใช้น้ำมันของโลกปรับเพิ่มขึ้น โดยโอเปกจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะปรับเพิ่มเพดานการผลิตอย่างทันท่วงที เพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้สูงเกินไปจนทำให้การใช้น้ำมันหดตัวลงอย่างหนัก เหมือนเช่นที่เกิดขึ้นในปี 51 ซึ่งไทยออยล์คาดว่าโอเปกน่าจะยังคงรักษาเพดานการผลิตที่ระดับ 24.84 ล้านบาร์เรล/วัน ไปจนถึงกลาง 53 จนกว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกเริ่มลดลงกลับเข้าสู่ระดับปกติ
ขณะที่ปริมาณน้ำมันคงคลังทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปลายปี 51 โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลคงคลังที่มีอยู่ในระดับที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งที่เก็บไว้ในถังและบนเรือเดินทะเล โดยปริมาณน้ำมันคงคลังน่าจะค่อยๆ ปรับลดลง ซึ่งจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาส 2/53 หลังจากที่การใช้น้ำมันเริ่มฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจที่จะปรับตัวดีขึ้น ไทยออยล์คาดว่าในช่วงกลางปี 53 ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังน่าจะลดลงกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้
ทั้งนี้ ในปี 53 กำลังการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคจะปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านบาร์เรล/วัน หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วมากถึง 1.6 ล้านบาร์เรล/วันในปี 52 ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีนและอินเดีย โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจะกดดันให้โรงกลั่นในภูมิภาค รวมทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ที่เป็นโรงกลั่นที่มีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ทันสมัยและไม่ครบวงจร อาจจะต้องปรับลดการผลิตลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่โรงกลั่นที่ไม่มีกำไรอาจจะต้องปิดตัวไปอย่างถาวร ซึ่งเริ่มเห็นบ้างแล้วในสหรัฐฯ ที่มีโรงกลั่นปิดตัวลดลงไปจากภาวะขาดทุนสะสมในช่วงปลายปี 52
ไทยออยล์คาดว่า สถานการณ์การผลิตของโรงกลั่นในปี 53 น่าจะปรับตัวดีขึ้นจากปี 52 หลังจากที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกปรับสูงขึ้น และอุปทานส่วนเกินน่าจะปรับลดลง จากการลดกำลังการผลิตของโรงกลั่นที่ไม่คุ้มทุน
อย่างไรก็ตาม ในปีหน้านักลงทุนจะยังคงเคลื่อนย้ายเงินลงทุนมายังตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ จากการอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเงินโดยรัฐบาลทั่วโลก ในขณะที่ภาคเศรษฐกิจจริงยังคงเปราะบาง ทำให้นักลงทุนยังไม่กล้านำเงินเข้าไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ถาวร รวมทั้งนักลงทุนยังคงมีความอ่อนไหวต่อข่าวการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้การเคลื่อนย้ายเงินในตลาดเงิน ตลาดหุ้น และตลาดน้ำมัน มีมากขึ้น
ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 53 มีแนวโน้มอ่อนค่า จะเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้มีการลงทุนในตลาดน้ำมันเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในปี 53 มีความผันผวนมากขึ้น โดยเชื่อว่ามาตรการของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการป้องกันการเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จะยังไม่สามารถป้องกันการเก็งกำไรของนักลงทุนได้
สำหรับสถานการณ์การเมืองภายในประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบจากปัญหาโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านกับชาติตะวันตก และเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศของไนจีเรีย น่าจะยังคงดำเนินต่อไปในปี 53 แต่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันนั้นไม่น่าจะมากนักในภาวะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดยังมีอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้นไทยออยล์คาดว่า ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้น น่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเฉพาะในช่วงสั้นๆ เท่านั้น
ไทยออยล์ยังคาดการณ์ถึงภาวะตลาดอะโรมาติกส์ในปี 53 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์น่าจะขยายตัวได้ในอัตรา 3-5% เมื่อเทียบปี 52 เนื่องจากผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการผลิตสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ได้แก่ สิ่งทอ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทั่วโลกจะส่งผลให้การผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นด้วย
ส่วนด้านอุปทานของโรงอะโรมาติกส์ในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจากที่มีโรงอะโรมาติกส์ใหม่ในภูมิภาคได้เปิดดำเนินการไปแล้วในปี 52 นอกจากนี้ มีโรงอะโรมาติกส์อีก 2 แห่ง ในประเทศจีนและตะวันออกกลางที่จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 53 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอุปทานในตลาดมากขึ้น และจะส่งผลกดดันราคาอะโรมาติกส์และอัตรากำลังการผลิตของโรงอะโรมาติกส์ในภูมิภาคโดยรวมปรับลดลง
อย่างไรก็ตาม ราคาอะโรมาติกส์อาจจะได้รับแรงสนับสนุนและปรับตัวสูงขึ้นได้ หากโรงอะโรมาติกส์ใหม่เลื่อนการเปิดดำเนินการออกไป รวมทั้งปัญหาวัตถุดิบตั้งต้นไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ถ้าโรงกลั่นน้ำมันยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ระดับต่ำ ประกอบกับโรงโอลิฟินส์ในภูมิภาคที่ใช้แนฟทาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นลดการผลิตลง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับโรงโอลิฟินส์ในแถบตะวันออกกลางที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าว อาจจะส่งผลให้การผลิตผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์ต้องปรับลดลง ด้วยสาเหตุที่วัตถุดิบตั้งต้นไม่เพียงพอ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาอะโรมาติกส์ดีดกลับมาได้ในช่วงกลางปี 53
อย่างไรก็ตาม จากการแข่งขันที่สูงขึ้นในปี 53 บริษัทฯ ได้วางแผนที่จะหาตลาดใหม่ๆ โดยการขยายฐานลูกค้า โดยครอบคลุมลูกค้าที่เป็นผู้ใช้โดยตรงด้วย โดยบริษัทฯ มีความได้เปรียบคู่แข่งในด้านการเป็นโรงกลั่นแบบครบวงจร ทำให้มีความแน่นอนในการที่จะสามารถผลิตผลิตภัณฑ์อะโรมาติกส์ได้ตามข้อตกลงของลูกค้า
สำหรับภาวะตลาดเอทานอลในปี 53 จากภาวะตึงตัวจะกลับเข้าสู่ภาวะสมดุลมากขึ้นจากปริมาณกากน้ำตาลที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลที่จะปรับเพิ่มขึ้นตามผลผลิตอ้อยที่มีการปลูกมากขึ้น อีกทั้งจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตจากโรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเพิ่มเข้ามาในตลาด ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปัญหาอุปทานเอทานอลตึงตัวจากปริมาณกากน้ำตาลไม่เพียงพอลงได้
ความผันผวนของราคาเอทานอลน่าจะปรับลดลงหลังจากที่โรงงานเอทานอลที่ใช้มันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบเหล่านี้เปิดดำเนินการอย่างเต็มที่และผลิตเอทานอลป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยในปี 53 คาดว่าจะมีโรงงานเอทานอลรวม 18 แห่ง มีกำลังการผลิตโดยรวมประมาณ 2,750,000 ลิตร/วัน ซึ่งไทยออยล์คาดว่าปริมาณการผลิตเอทานอลจะมีเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศในขณะที่ปริมาณการใช้เอทานอลในประเทศของปี 53 น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นปริมาณต่อวันอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านลิตร