พาณิชย์เผยสหรัฐฯ ผ่านร่างกม.ต่ออายุ GSP ออกไปอีก 1 ปี เริ่มม.ค.53

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2009 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า รัฐสภาคองเกรสสหรัฐฯได้เห็นชอบผ่านร่างกฎหมาย ต่ออายุโครงการ GSP ออกไปอีก 1 ปี โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53-31 ธ.ค.53 จากที่กำหนดโครงการจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 52 ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากประธานาธิบดีสหรัฐฯก่อนประกาศให้มีผลบังคับ ใช้

การต่ออายุโครงการนี้ในระยะสั้นเพียง 1 ปี ก่อนที่จะมีการพิจารณาปฏิรูปโครงการ GSP ใหม่ เพื่อกระจายผล ประโยชน์ของ GSP ไปให้ประเทศกำลังพัฒนายากจนให้มากยิ่งขึ้น โดยรัฐสภาสหรัฐฯและสำนักงาน USTR จะเปิดรับฟังความคิดเห็น (Hearing)จากสาธารณะชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศจะได้เข้าร่วมแสดงข้อคิดเห็น รวมทั้งรักษาสิทธิประโยชน์ GSP แก่ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทยต่อไป

สำหรับการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.- ต.ค.) ของปี 52 มีมูลค่าการค้ารวมทั้งสิ้น 20,381.05 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ มีมูลค่า 6,710.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไป สหรัฐฯ มีมูลค่า 13,545.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากสหรัฐฯ มีมูลค่า 6,835.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วง 10 เดือน แรกของปี 52 ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยใช้สิทธิ GSP มูลค่า 2,327.68 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 13.92 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 16,727.36 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ประเทศที่มีการใช้สิทธิ GSP สูง 5 อันดับแรก คือ

ประเทศ                              มูลค่า (ล้าน US$)         ส่วนแบ่งตลาดการใช้สิทธิGSP (%)
1.  แองโกลา                         3,575.01                         21.37
2.  อินเดีย                           2,407.87                         14.39
3.  ไทย                             2,327.68                         13.92
4.  บราซิล                           1,635.72                          9.78
5.  อิเควทอเรียลกินี (Eq Guinea)        1,472.12                          8.82

จากสถานการณ์ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าผู้ส่งออกไทยต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐฯ ส่งผลต่อการส่งออก โดยรวมของประเทศ ผู้ส่งออกไทยจึงควรใช้ประโยชน์จากสิทธิ GSP ที่เป็นแต้มต่อที่ได้รับอยู่ให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายาม พัฒนาขีดความสามารถในการผลิตโดยผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง และลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด รวมทั้งมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับการ ส่งออก เพื่อเตรียมพร้อมที่จะปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยลดการพึ่งพา GSP ซึ่งนับวันจะลดน้อยลง และยกเลิกไปใน ที่สุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ