รฟท.ร่วม ม.เทคโนพระจอมเกล้าฯตั้งสถาบันพัฒนาระบบรางฯ ผลิตบุคลากรสู่ระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 29, 2009 15:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อจัดตั้งสถาบันพัฒนาระบบรางภาคพื้นอาเซียน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรในระบบราง และมุ่งหวังที่จะเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพของบุคลากรในการขนส่งระบบรางในภูมิภาคอาเซียน ทั้งในเชิงวิชาการและปฏิบัติการเพื่อให้ทันต่อความต้องการของการพัฒนาองค์กรและการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

รฟท.จะสนับสนุนงบประมาณ และสถานที่ตั้งสถาบันดังกล่าว รวมทั้งจะจัดหาพนักงานผู้เข้ารับการฝึกอบรม หรือศึกษาในสถาบัน ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะรับผิดชอบการจัดหลักสูตรศึกษา ออกแบบและพัฒนาการฝึกอบรม และงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อป้อนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง ซึ่งจะมีทั้งหลักสูตรระยะสั้น และระดับอุดมศึกษา การพัฒนาศักยภาพบุคลากรของ รฟท. ด้วยการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากร เพื่อตอบสนองนโยบายและภารกิจของรฟท.

การวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมที่มีคุณค่าและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยมุ่งเน้นการศึกษาวิจัยที่สามารถเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการขนส่งระบบราง การกำหนดและวางแผนโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในสถาบัน และ การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ เพื่อสร้างโอกาสและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงองค์ความรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

"การพัฒนาคนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต้องดำเนินการไปควบคู่กัน ซึ่งวันนี้ ครม.อนุมัติแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรฟท. วงเงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ รฟท.ก็ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการพัฒนาคน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาด้านบุคลากรในรฟท. หลังจากก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นองค์กรไดโนเสาร์ พัฒนาช้า" นายโสภณ กล่าว

ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า สถาบันพัฒนาระบบรางภาคพื้นอาเซียน จะช่วยพัฒนาบุคลากรของรฟท. รวมทั้งสนับสนุนบุคลากรที่จบจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟ จากเดิมที่ไม่มีวุฒิปริญญาตรี ก็จะได้ศึกษาต่อที่สถาบันฯ และได้รับวุฒิปริญญาตรี ขณะที่บุคลากรจะได้รับความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติม เพื่อที่จะนำมาพัฒนาระบบรางต่อไป

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 52 รฟท.จะเริ่มส่งบุคลากรไปศึกษากับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในหลักสูตรด้านการพัฒนาระบบราง ส่วนงบประมาณในการดำเนินการนั้น ยังไม่ได้กำหนด แต่เบื้องต้นคงใช้งบประมาณไม่มากนัก เพียงแต่จัดส่งนักเรียนจากโรงเรียนวิศวกรรมรถไฟไปศึกษาต่อเท่านั้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ