ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดเงินบาทปี 53 แข็งค่าท่ามกลางความผันผวน อาจแตะ 31.50 ปลายปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 11:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงปี 53 จะมีความผันผวนมากขึ้นกว่าปีนี้ และยังมีแนวโน้มแข็งค่าเช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค โดยคาดว่าอาจมีสิทธิแตะระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปี ทิศทางค่าเงินบาทอาจแข็งค่าทดสอบ 33.00 บาท/ดอลลาร์ และปรับตัวมาอยู่ที่ระดับ 32.50 บาท/ดอลลาร์ฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 53

"หากกระแสความแข็งแกร่งของสกุลเงินในภูมิภาคมีความต่อเนื่องตลอดทั้งปี ก็อาจทำให้เงินบาทยังคงปรับตัวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นได้ โดยเงินบาทอาจปรับตัวแข็งค่าสู่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงปลายปี 53"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่โดดเด่นไปกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ในเอเชีย เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะ 1 ปีข้างหน้า ยังคงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของประเด็นทางการเมือง และการเร่งฟื้นคืนความเชื่อมั่นของภาคเอกชน

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ระบุว่า การที่เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าในเดือน ธ.ค.52 ซึ่งมีแรงหนุนจากความคาดหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้น ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นการแข็งค่าจากผลของแรงซื้อคืนดอลลาร์ของนักลงทุน ดังนั้นทิศทางของค่าเงินดอลลาร์ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้าที่ขึ้นอยู่กับความมั่นคงของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะเป็นตัวกำหนดช่วงเวลาที่เหมาะสมของการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ด้วยเช่นกัน

"ประเด็นสำคัญของตลาดการเงินปี 53 ที่มีความเหลื่อมล้ำกันในแต่ละช่วงเวลาดังที่กล่าวข้างต้น ทำให้ได้ภาพสรุปในเบื้องต้นว่า ทิศทางการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในช่วงเวลา 1 ปีข้างหน้า น่าที่จะมีความผันผวนมากขึ้นกว่าปี 52" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

สำหรับปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นจุดสนใจของนักลงทุนในช่วง 3-6 เดือนแรกของปี 53 น่าที่จะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการยุติมาตรการผ่อนคลายแบบพิเศษในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถอดถอนมาตรการด้านสภาพคล่องและมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของเฟด ตลอดจนสัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางในแถบเอเชีย ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวจะมีความเกี่ยวโยงกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศในแถบเอเชีย

แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชีย จะมีความแข็งแกร่งมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2553 และเมื่อผนวกเข้ากับสัญญาณความเสี่ยงของฟองสบู่ราคาสินทรัพย์และภาคอสังหาริมทรัพย์ในบางประเทศ อาจทำให้ธนาคารกลางบางแห่งในเอเชีย เช่น ธนาคารกลางเกาหลีใต้ และธนาคารกลางอินเดีย จำเป็นต้องเริ่มวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 3-6 เดือนแรกของปี 53 ขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค รวมถึงธนาคารกลางจีนก็น่าที่จะเตรียมส่งสัญญาณแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินในช่วงเวลาดังกล่าวด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ภาพความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจเอเชียในช่วงครึ่งแรกของปี 53 น่าที่จะมีความชัดเจนมากกว่าภาพแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งอาจยังคงมีภาพปะปนจากการทรงตัวในระดับสูงของอัตราการว่างงาน และกำลังการผลิตส่วนเกิน ดังนั้นแม้ว่า เฟดจะทยอยยุติมาตรการผ่อนคลายพิเศษในช่วงครึ่งแรกของปี 53 แต่สัญญาณการคุมเข้มนโยบายการเงินด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงมีความคลุมเครือ น่าที่จะทำให้สกุลเงินเอเชียโน้มไปในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี จะต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 2/53 อย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะเริ่มขยับลงจากจุดสูงสุดของวัฏจักรรอบนี้ในช่วงเวลาดังกล่าว และอาจทำให้ภาพของการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและการใช้กำลังการผลิตของสหรัฐฯ มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องให้กระแสการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีความเข้มข้นมากขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์ดังกล่าวอาจช่วยจำกัดแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ลงบางส่วน แต่ตราบใดที่เฟดยังคงไม่ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนคงเป็นผลกระทบที่ยากที่จะหลีกเลี่ยง และทางการไทยคงจะต้องเตรียมรับมือ

ขณะที่ แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอาจเกิดขึ้นในลักษณะของการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากกว่าจะเป็นไปในลักษณะการคุมเข้มนโยบายการเงิน นอกจากนี้ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 53 ก็มีแนวโน้มลดลงมาที่ระดับ 10.0-12.7 พันล้านดอลลาร์ จากที่คาดว่าจะบันทึกยอดเกินดุลราว 20.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 52


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ