ธปท.เผยเศรษฐกิจ พ.ย.52 ปรับตัวดีขึ้นหลังชะลอเล็กน้อยในเดือน ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 14:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แถลงภาวะเศรษฐกิจในเดือน พ.ย.52 ว่า เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นหลังจากชะลอลงเล็กน้อยในเดือนก่อน โดยมีอุปสงค์เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่การส่งออกแผ่วตัวลงเทียบกับเดือนก่อน แต่เทียบปีต่อปียังขยายตัวได้ดี นักลงทุนยังกังวลปัญหาการเมือง ภาวะเศรษฐกิจและกรณีมาบตาพุด

อุปสงค์รวมขยายตัวได้ต่อเนื่องทั้งด้านการบริโภคและการลงทุน ส่วนการส่งออกแผ่วลงบ้างเมื่อเทียบกับที่ส่งออกได้ในเดือนก่อนแต่ยังขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวและอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก

การลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในระดับต่ำ การส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่นยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แผ่วลงบ้างหลังจากขยายตัวในระดับสูงมาหลายเดือน สินค้าเกษตรและน้ำตาลส่งออกได้สูงขึ้นทั้งด้านปริมาณและราคา การเบิกจ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีผ่านสภาแล้ว การท่องเที่ยวและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

ธปท.ระบุว่า อุปสงค์โดยรวมขยายตัวดี การบริโภคภาคเอกชน กลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากที่ชะลอลงในเดือนก่อน ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน(PCI)ขยายตัว 4.0% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน โดยการใช้จ่ายในด้านรถยนต์เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรอยู่ในเกณฑ์ดีตามราคาพืชผลสูงขึ้น การว่างงานลดลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และการให้สินเชื่อของสถาบันการเงิน

การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ 6 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต และการลงทุน ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนเพื่อทดแทนการเสื่อมสภาพของเครื่องจักรและอุปกรณ์ อีกทั้ง ยังคงมีความเปราะบาง สะท้อนจากการปรับ ลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในเดือนนี้ และความกังวลต่างๆ ของนักธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้นจาก ราคาน้ำมัน ปัญหาการเมืองในประเทศ และปัญหากรณีนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ภาคการคลังกลับมาเป็นปัจจัยสนับสนุนและมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยรัฐบาลเปลี่ยนจากเกินดุลเงินสด 6.8 พันล้านบาทในเดือนก่อนเป็นขาดดุลเงินสด 79.0 พันล้านบาท

การส่งออกขยายตัวร้อยละ 17.3 จากระยะเดียวกันปีก่อนส่วนหนึ่งเนื่องจากฐานที่ต่ำในปีก่อน แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ซึ่งการส่งออกแผ่วลงบ้างจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสินค้าที่ใช้แรงงานในการผลิต ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร และน้ำตาล ขยายตัวสูงขึ้น การนำเข้า ปรับตัวดีขึ้น ทั้งการนำเข้าเพื่อการบริโภคการลงทุน และการผลิต สอดคล้องกับทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรมและอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.7 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวเพียงร้อยละ 0.3 ลดลง จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 19.0

นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลัก ทั้งจากกลุ่มประเทศเอเชีย โดยเฉพาะจากประเทศจีน และกลุ่มประเทศยุโรป ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 1.37 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 13.1 และอัตราการเข้าพักหลังปรับฤดูกาลอยู่ที่ร้อยละ 53.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อน

ภาคการผลิต ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน MPI ที่ปรับฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ตามการชะลอตัวของการผลิตสินค้าที่ได้เร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า อาทิ เหล็กแผ่นรีดร้อนรีดเย็นและสิ่งทอ สำหรับการผลิตเพื่อส่งออก เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ยังคงมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การผลิตเพื่อขายในประเทศ เช่น การผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และเครื่องดื่ม ขยายตัวดีสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชน

สภาพคล่องในระบบการเงิน เงินฝากของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นมากจากเดือนก่อน เนื่องจากสถาบันการเงินเฉพาะกิจระดมเงินฝาก เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามโครงการภาครัฐ และธนาคารพาณิชย์ออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับ การขยายตัวของสินเชื่อส่วนบุคคล ส่วนสินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน ที่สำคัญเป็นการให้สินเชื่อกับ ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัย

เสถียรภาพภายในและต่างประเทศยังคงแข็งแกร่ง แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ย.จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 แต่เป็นผลจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ต่ำสุดในรอบ 13 เดือนดุลการชำระเงินเกินดุลสุทธิ ลดลงจาก 2.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในเดือนก่อนเป็น 2.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ