นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในปี 2553 การใช้พลังงานโดยรวม จะขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งประเมินจากตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจจะขยายตัว ร้อยละ 3 ดังนั้นกระทรวงพลังงานจึงมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลการจัดหาพลังงานให้เพียงพอและราคาเหมาะสม ซึ่งปัจจัยที่ยังน่าเป็นห่วง คือ เรื่องก๊าซหุงต้ม หรือ แอลพีจี ที่ประเทศไทยอาจต้องนำเข้ามากกว่า 100,000 ตันต่อเดือน หากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้ จากปัญหามาบตาพุด โดยประเด็นนี้ กระทรวงพลังงานได้เสนอต่อ ครม. และนายกรัฐมนตรี สั่งการให้สรุปประเด็นปัญหาและรายงาน ครม. ภายในเดือนมกราคม 2553
"การตรึงราคาแอลพีจี ตามกำหนดเดิม จะตรึงไปจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2553 แต่หากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ไม่สามารถเดินเครื่องได้ตามกำหนดภายในเดือนมีนาคม-เมษายน จะเสนอนายกรัฐมนตรี อาจต้องทบทวนระยะเวลาการตรึงราคา เพราะไม่เช่นนั้นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องเข้าไปรับภาระส่วนต่างนำเข้ามหาศาล อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ปตท.ได้ทำเรื่องชี้แจงถึงศาลปกครองแล้ว และคงจะต้องติดต่ามดูว่า ศาลจะพิจารณาอย่างไร" นายพรชัย กล่าว
ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวด้วยว่า ในปี 2553 คาดว่า จะสามารถลงนามซื้อขายไฟฟ้า จาก สปป.ลาว ได้อีก 2-3 โครงการ จากที่ปี 2552 รัฐบาลเห็นชอบให้เดินหน้าซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการหงสาลิกไนต์ และน้ำงึม 3 ไปแล้ว ขณะที่โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่า ได้เห็นชอบการเจรจาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมายกก ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัดจีห์ คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในกลางปี 2553 หลังจากมีการทำความเข้าใจกับ เอ็นจีโอ และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งภาพรวมการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จะช่วยให้ไทยมีความมั่นคงด้านพลังงาน และกระจายเชื้อเพลิง จากปัจจุบันพึ่งพาก๊าซธรรมชาติ ถึงร้อยละ 70 โดยโครงการที่คัดเลือกเข้ามา จะคำนึงถึงราคาต้นทุนเป็นหลัก ซึ่งจะเปรียบเทียบกับต้นทุนในกรณีที่ กฟผ. ก่อสร้างเอง