(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย ธ.ค.52 ตัวเลข CPI ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.5% ทั้งปีติดลบ 0.9%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน ธ.ค.52 อยู่ที่ 105.7 เพิ่มขึ้น 3.5% จากเดือน ธ.ค.51 แต่ลดลง 0.1% จากเดือน พ.ย.52 ทั้งนี้ส่งผลให้ CPI ปี 52 ติดลบ 0.9% จากปีก่อน

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน ธ.ค.52 อยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือน ธ.ค.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน พ.ย.52

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน ธ.ค.52 อยู่ที่ 117.9 เพิ่มขึ้น 2.2% จากเดือน ธ.ค.51 ส่วนดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.8 เพิ่มขึ้น 4.3% จากเดือน ธ.ค.51

"ตัวเลข CPI ปรับตัวเป็นบวกต่อเนื่องกัน 3 เดือน ทำให้เงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีติดลบ 0.9% ซึ่งถือว่าอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์วางไว้...คาดว่าตัวเลข CPI แต่ละเดือนต่อจากนี้จะเป็นบวกไปตลอด ไม่มีการติดลบแล้ว สำหรับตัวเลข CPI ในเดือน ธ.ค.52 ที่สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5% เป็นอัตราสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นั้นมีสาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่สูงขึ้น 2.2% ในขณะที่ดัชนีในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 4.3%""นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าว

ขณะที่ CPI เฉลี่ยของไตรมาส 4 ปี 52 เพิ่มขึ้น 1.9%

ทั้งนี้ สำหรับ CPI เฉลี่ยปี 52 ที่ติดลบ 0.9% ถือเป็นอัตราที่ลดลงค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปี 51 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5.5% ทั้งนี้เป็นเพราะช่วงครึ่งปีแรกของปี 52 ภาวะเศรษฐกิจหดตัวอย่างมากจากวิกฤติเศรษฐกิจภายนอก ประกอบกับราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกันรัฐบาลยังออกมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนควบคู่ไปกับนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดง และอัตราเงินเฟ้อติดลบอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวไปในทางที่ดี และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับรัฐบาลได้ปรับลดการสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ และมีการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายไทยเข้มแข็ง จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อช่วงหลังของปี 52 เรื่มปรับตัวดีขึ้น

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวต่อว่า จากการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกตินั้น ในภาคของประชาชนจะเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในด้านการจับจ่ายใช้สอย และมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น ขณะที่ผู้ผลิตจะมีแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ส่วนในแง่ของรัฐบาลนั้น มองว่ารัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวต่อเนื่อง ให้มีประสิทธิภาพเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไหลลื่น และไม่ให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจต้องสะดุดลง

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ยังมองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่ควรปรับอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ เนื่องจากในช่วงนี้ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำได้สอดคล้องกับการเอื้อให้ภาวะเศรษฐกิจเติบโต ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงควรรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาสแรกของปี 53 อัตราดอกเบี้ยน่าจะยังคงที่ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างมั่นคง ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ

"เรามองว่าแบงก์ชาติยังไม่ควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระยะนี้ โดยน่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปอีกระยะเพื่อทำให้ประชาชน และองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจได้เกิดความเชื่อมั่น"นายยรรยงกล่าว

สำหรับทั้งปี 53 นี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อ จะยังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ คือ เพิ่มขึ้น 3.0-3.5% ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และรัฐบาลได้ขยายมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ