รง.น้ำตาล ย้ำไม่ใช่โรงไฟฟ้า หวั่นรัฐออกเกณฑ์ควบคุมซ้ำซ้อนทำขายไฟสะดุด

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากคณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ในการประชุมร่วมของคณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวลได้มีการหารือในประเด็นการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลในอนาคต และได้แจ้งต่อหน่วยงานของรัฐถึงความวิตกกังวลกรณีที่หน่วยงานภาครัฐจะกำหนดให้ “โรงงานน้ำตาล" ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้นี้ถูกจัดเข้ากลุ่มของ “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน" ซึ่งอาจทำให้โรงงานน้ำตาลมีปัญหาในการขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือเข้าสู่ระบบของการไฟฟ้าฯ ซึ่งจะต้องถูกกำกับดูแลโดยหน่วยงานอื่นที่ถือเป็นการกำกับดูแลที่ซ้ำซ้อนกับที่กรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ดูแลโรงงานน้ำตาลอยู่แล้ว ผลกระทบที่จะเกิดตามมาจากเรื่องดังกล่าวก็คือ พลังงานไฟฟ้าที่โรงงานน้ำตาลเคยขายให้กับการไฟฟ้าฯ จะสูญหายไปจำนวนหนึ่ง

ในส่วนการผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาลนั้น ไฟฟ้าไม่ใช่กิจการหลัก เพราะกิจการหลักอยู่ที่การผลิตน้ำตาล และในกระบวนการผลิตก็ต้องอาศัยทั้งพลังงานความร้อนจากไอน้ำและพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนเครื่องจักรในการผลิต จึงมีอุปกรณ์ที่เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นส่วนควบรวมอยู่ด้วย ส่วนที่ขายไฟเข้าระบบของการไฟฟ้าฯ ก็เป็นการเชื่อมต่อในเรื่องของสายส่งเท่านั้น ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อมหรือแม้แต่สุขอนามัยของชุมชนในพื้นที่ และที่สำคัญไฟฟ้าที่ผลิตจากกากชานอ้อยก็ถือเป็นการลดภาระด้านมลพิษและเป็นการนำเศษวัสดุที่เหลือจากการผลิตมาใช้ให้เกิดประโยชน์ถือเป็นการช่วยลดภาวะโลกร้อนอีกทางหนึ่งด้วย

คณะทำงานด้านเอทานอลและพลังงานชีวมวล บริษัท ไทยชูการ์ มิลเลอร์ จำกัด เปิดเผยอีกว่า กลุ่มผู้ประกอบการได้แจ้งความวิตกกังวลในเรื่องนี้ต่อหน่วยงานของรัฐแล้ว เพื่อต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบทุกหน่วยงาน ได้มีความชัดเจนในการดำเนินการทั้งในปัจจุบันและอนาคต ต่อการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมน้ำตาล หรืออุตสาหกรรมประเภทอื่นที่ใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในส่วนที่เหลือใช้ โดยยึดเกณฑ์มาตรฐานของอุตสาหกรรมหลักเป็นสำคัญ เช่น โรงงานน้ำตาล ที่ใช้กากชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้า หรือโรงสีข้าว และโรงงานผลิตข้าวถุง ที่ใช้แกลบผลิตไฟฟ้า เพื่อให้เป็นไปตามสภาพความเป็นจริง และไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน

“พลังงานไฟฟ้าที่โรงงานน้ำตาลผลิตได้นี้ เกิดจากเชื้อเพลิงธรรมชาติจำพวกกากชานอ้อย ซึ่งเป็นการนำของเหลือใช้มาทำให้เกิดประโยชน์ เมื่อผลิตไฟฟ้าได้แล้ว หากไม่ได้ขายเข้าสู่ระบบเพื่อให้ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียงได้ใช้ด้วย ก็ถือเป็นการสูญเปล่าที่น่าเสียดาย ในขณะที่เรากำลังต้องการลดการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันเชื้อเพลิง ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งนับวันจะหมดไปจากโลก” เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้ จากข้อมูลในปี 2552 พบว่าโรงงานน้ำตาลที่ได้รับอนุญาตให้ขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือใช้มีจำนวนทั้งสิ้น 36 โรงงาน เสนอขายไฟฟ้ารวมจำนวน 269.8 เมกะวัตต์ และอยู่ในระหว่างดำเนินการขออนุญาตที่จะเสนอขายอีก 2 โรงงาน อาจจะชะลอดูท่าทีและนโยบายจากภาครัฐที่ชัดเจน และความคุ้มค่าต่อการลงทุนในเรื่องดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ