ก.เกษตรฯทุ่ม33ลบ.งัด 6 มาตรการรองรับกฎ IUU อุ้มส่งออกสินค้าประมง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 4, 2010 13:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยถึงการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรปว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้รับงบประมาณปี 2553 รวมทั้งสิ้นประมาณ 33 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเพื่อรองรับกฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป

โดยกรมประมงได้จัดทำรายละเอียดการดำเนินการเร่งด่วนเพื่อรองรับกฎระเบียบ IUU ฉบับใหม่ ว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดรายงานและไร้การควบคุม ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เพื่อรักษาการส่งออกสินค้าประมง มูลค่ากว่า 36,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งประมาณ 61 เปอร์เซ็นต์ หรือ 22,000 ล้านบาท เป็นสินค้าที่มาจากการจับสัตว์น้ำทะเล ไม่ให้ลดลงหรือได้รับผลกระทบน้อยที่สุด และไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าประมงเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ กรมประมง ได้ดำเนินการ 6 แนวทางหลัก ประกอบด้วย การตรวจรับรองสัตว์น้ำขึ้นท่าและการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ, การควบคุมการทำประมงให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ IUU, การปรับปรุงสุขอนามัยเรือประมงและท่าเทียบเรือประมง, ตั้งศูนย์ข้อมูลตรวจสอบรับรองการจับสัตว์น้ำ ทั้งในส่วนกลางที่กรมประมง กรุงเทพฯ และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ 22 จังหวัดชายทะเล

การประชาสัมพันธ์การดำเนินการตามกฎระเบียบ IUU เพื่อให้ภาคเอกชน ได้แก่ ชาวประมง แพปลา ผู้ประกอบการโรงงาน ผู้ส่งออก ได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามกฎระเบียบ IUU อย่างต่อเนื่อง, จัดตั้งศูนย์ประสานงานการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงาน คือ การเร่งรัดจดทะเบียนเรือและอาชญาบัตรทำประมง 7,000 ลำ โดยการจัด mobile unit ทำการประชาสัมพันธ์และให้บริการชาวประมงในพื้นที่

นอกจากนี้ ในปี 53 จะทำการสำรวจตรวจสอบเพื่อรับรองเรือสุขอนามัยประมง มีเป้าหมาย 900 ลำ เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม-กันยายน 2553 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 9 เดือน รวมถึงทำการสำรวจตรวจสอบเพื่อเตรียมการรับรองท่าเทียบเรือประมงรวม 64 ท่า ซึ่งรวมทั้งท่าเรือองค์การสะพานปลา ท่าเรือเทศบาล และท่าเรือเอกชน ใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยตรวจดูจากปริมาณสัตว์น้ำขึ้นท่า และศักยภาพในการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือเพื่อทำการปรับปรุงในปีต่อๆไป

ขณะเดียวกันจะดำเนินการให้คำแนะนำผู้ประกอบการเรือประมง และท่าเทียบเรือประมงให้มีความรู้ความเข้าใจ เห็นความสำคัญ และรู้วิธีปฏิบัติในการปรับปรุงสุขอนามัยเรือประมงและท่าเทียบเรือประมงควบคู่กันด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้หน่วยงานของไทยจะเตรียมความพร้อมได้ดี แต่ก็ยังมีความกังวลในเรื่องการออกใบรับรองการจับสัตว์น้ำ (Catch Certificate) ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณมากถึงปีละ 1.5—2 ล้านใบ และคาดว่าท่าเทียบเรือที่เรือประมงน่าจะมากถึงประมาณ 200 ท่า โดยสินค้าประมงของไทยที่ส่งออกไปอียูทั้งหมด มีความสำคัญสำหรับชาวประมงไทยซึ่งประสบความยากลำบากเพิ่มขึ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคใต้ซึ่งมีเหตุการณ์จากผู้ก่อความไม่สงบในบางจังหวัด จึงไม่ต้องการให้กฎดังกล่าวเพิ่มภาระและมีผลกระทบต่อชาวประมง และการค้าสินค้าประมงกับอียู

สินค้าประมงส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ทูน่ากระป๋อง กุ้งและผลิตภัณฑ์ หมึกสดและหมึกแปรรูป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ