วอร์เรน บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ มีรายได้จากการซื้อขายหุ้นในปี 2552 น้อยที่สุดในรอบ 10 ปี หลังจากทุ่มเงิน 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซื้อกิจการบริษัท เบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทสร้างทางรถไฟขนาดใหญ่ที่บัฟเฟตต์ พร้อมกับปรับลดคาดการณ์ผลตอบแทนที่จะได้จากการซื้อธุรกิจเบอร์ลิงตัน
หุ้นบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ ของบัฟเฟตต์ ปรับตัวขึ้น 2.7% ในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กตลอดปี 2552 ขณะที่ราคาหุ้นเบิร์คเชียร์ที่เข้าเทรดในดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 23% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบัฟเฟตต์มีรายได้จากการซื้อขายหุ้นน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี
ทั้งนี้ บัฟเฟตต์ยอมรับว่า การที่เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์จะกลับมาทำกำไรได้มากเป็นสองเท่าเหมือนเมื่อก่อนนั้น อาจเป็นไปได้ยาก หลังจากที่เขาตัดสินใจเข้าซื้อกิจการเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2552 ซึ่งถือเป็นการเข้าซื้อกิจการในวงเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์การก่อตั้งอาณาจักรเบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ยอมรับว่าการทุ่มเงินมหาศาลซื้อกิจการเบอร์ลิงตันนั้น อาจส่งผลกระทบถึงกิจการอื่นๆที่เบิร์คเชียร์ซื้อเข้ามาไว้ในเครือข่ายเมื่อเศรษฐกิจซบเซาลง
บัฟเฟตต์ ซึ่งมีฉายาว่า "Oracle of Omaha" หรือปราชญ์ผู้ทรงปัญญาแห่งเมืองโอมาฮา มลรัฐเนบราสก้า เป็นกูรูด้านการลงทุนที่นักลงทุนทั่วโลกจับตาดูมากที่สุด ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ซานตาเฟ คอร์ป แบบหมดหน้าตักเพราะมั่นใจในอนาคตของเศรษฐกิจสหรัฐ และเชื่อมั่นว่าเบอร์ลิงตันจะให้บริการรถไฟขนส่งสินค้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐในเอเชียมากขึ้น รวมถึงจีน
อย่างไรก็ตาม การเข้าซื้อกิจการเบอร์ลิงตัน นอร์ทเธิร์น ทำให้สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ขู่ลดอันดับเครดิตบริษัท เบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ เพราะเกรงว่าอาจทำให้สภาพคล่องและเงินทุนในธุรกิจประกันของเบิร์คเชียร์หดตัวลง นอกจากนี้ S&P ยังให้เครดิตพินิจ ซึ่งมีนัยว่า เบิร์คเชียร์อาจถูกลดอันดับเครดิตลงจากระดับปัจจุบันที่ระดับ AAA