พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ประจำปี 2551 เชื่อว่า มีโอกาสสูงถึง 1 ใน 3 ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผลกระทบในด้านบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในด้านการเงินและการคลังเริ่มแผ่วลง
ครุกแมน วัย 56 ปี กล่าวในที่ประชุมเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นที่เมืองแอตแลนต้า ว่า "มีความเป็นไปได้ประมาณ 30-40% ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า และจะถดถอยรุนแรงพอที่จะทำให้อัตราว่างงานในสหรัฐพุ่งขึ้นมากกว่าแต่ก่อน ซึ่งภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเช่นนี้เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เตรียมยุติโครงการซื้อหลักทรัพย์, ผลกระทบในด้านบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 7.87 แสนล้านดอลลาร์ของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ลดน้อยลง และบริษัทเอกชนลดปริมาณสินค้าในสต็อก"
นอกจากนี้ ครุกแมนคาดการณ์ว่า บริษัทเอกชนจะลดปริมาณสินค้าในสต็อกลงในปีนี้ และคาดว่าอัตราว่างงานจะดีดตัวขึ้นสูงกว่าระดับในปัจจุบันในช่วงปลายปี ซึ่งการแสดงความคิดเห็นของครุกแมนค่อนข้างจะออกมาเป็นลบเมื่อเทียบกับนักวิเคราะห์คนอื่นๆ
ในการประชุมเฟดครั้งสุดท้ายของปี 2552 เฟดได้ออกแถลงการณ์ว่า จะชะลอการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกันของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมถึงแฟนนี เม และเฟรดดี แมค และชะลอการเข้าซื้อตราสารหนี้ของหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล นอกจากนี้ เฟดจะเริ่มปิดวงเงินสว็อปสภาพคล่องภายในวันที่ 1 ก.พ.และค่อยๆลดวงเงินในโครงการ Term Auction Facility ในช่วงต้นปี 2553
ทั้งนี้ ครุกแมนแนะนำว่า "เฟดควรเข้าซื้อหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านล้านดอลลาร์ เพื่อลดอัตราว่างงาน แต่หากเฟดยังคงยืนกรานคำแถลงการณ์ที่จะชะลอการเข้าซื้อหลักทรัพย์ ในขณะที่ผลกระทบในด้านบวกของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเริ่มแผ่วลง ก็จะยิ่งส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงกลางปีนี้"
"ก่อนหน้านี้เฟดระดมซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจนฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอยได้ แต่ทันทีที่เฟดยุติการซื้อตราสารและหลักทรัพย์เหล่านี้ จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเพื่อการซื้อบ้านพุ่งขึ้นทันที 1% ซึ่งจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าลง" ครุกแมนกล่าว
นอกจากนี้ ครุกแมนยังไม่เห็นด้วยกับการแสดงความคิดเห็นของ อลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดที่มองว่า การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นนิวยอร์กในปีที่แล้วจะลดความจำเป็นในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐ โดยครุกแมนกล่าวว่า "ประชาชนยากจนลงมากกว่า 4 ปีที่แล้ว และการเติบโตของตลาดหุ้นก็ไม่ได้อาศัยอัตราการอุปโภคบริโภคของประชาชน แต่ขึ้นอยู่กับมูลค่าที่อยู่อาศัยมากกว่า"