นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการลงทุนในมาบตาพุดบางโครงการได้เริ่มทำขอบเขตการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพ (เอชไอเอ)แล้ว หลังจากที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกำหนดแนวทางการศึกษาอีไอเอ และเอชไอเอแล้ว เมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา
"ภาคเอกชนเป็นห่วงความร่วมมือกับประชาชนที่จะให้ความเห็นในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพราะจะมีหลายโครงการที่เปิดรับฟังความเห็นประชาชนพร้อมกัน ถ้าไม่ให้ความร่วมมืออาจทำให้การศึกษาอีไอเอและเอชไอเอล่าช้า และยังเป็นห่วงข้อมูลด้านสาธารณสุขของภาครัฐที่ต้องนำมาประกอบด้วย เพราะไม่แน่ใจว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีข้อมูลพร้อมหรือไม่" นายพยุงศักดิ์ กล่าว
สำหรับการกำหนดประเภทกิจการที่กระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องรับฟังความเห็นประชาชนหรือไม่ หากรับฟังความเห็นต้องกำหนดขอบเขตการรับฟังความเห็น และจัดการรับฟังทั่วประเทศ คาดจะใช้เวลา 3-5 เดือน ซึ่งเอกชนเห็นว่าการกำหนดว่าเป็นกิจการกระทบต่อชุมชนรุนแรงหรือไม่ ในต่างประเทศจะพิจารณาในขั้นตอนการศึกษาอีไอเอ
อย่างไรก็ตาม หากการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงคงไม่กระทบกับการแก้ปัญหาการลงทุนในมาบตาพุด เพราะกำหนดรายละเอียดมาตรการชั่วคราวแล้ว ส่วนมาตรการถาวรที่จะออกเป็นพระราชบัญญัติต้องใช้เวลา 1-2 ปี แต่ไม่น่ามีปัญหาหากมีมาตรการชั่วคราวออกมาแล้ว ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญ ถ้าไม่แก้มาตรา 67 ก็ไม่มีปัญหา หากมีหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์ จึงถือว่าทุกโครงการผิดรัฐธรรมนูญหมด
ส่วนการกำหนดรายละเอียดองค์กรอิสระที่ให้ความเห็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงนั้น ยังมีความเห็นต่างกัน โดยภาคชุมชนเห็นว่าควรตั้งองค์กรเดียว แต่ภาคเอกชนเห็นว่าควรมีหลายองค์กร เพราะองค์กรเดียวจะผูกขาดอำนาจ และอาจชี้นำความเห็นได้ รวมทั้งจำกัดสิทธิของผู้เชี่ยวชาญที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นองค์ ประกอบขององค์กรอิสระ
นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โฆษกคณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 ม.ค.นี้คณะกรรมการ 4 ฝ่าย จะเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามาให้ความเห็นถึงการจัดตั้งองค์การอิสระชั่วคราว เนื่องจากพบว่าหากจัดตั้งด้วยการออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี อาจขัดต่อระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี พ.ศ.2534