ยูเรเซียกรุ๊ปเผยความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนติดอันดับปัจจัยเสี่ยงแรกสุดสำหรับนักลงทุนทั่วโลกประจำปี 53

ข่าวต่างประเทศ Tuesday January 5, 2010 11:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ยูเรเซีย กรุ๊ป เผยรายงานปัจจัยเสี่ยงสำหรับนักลงทุนทั่วโลกประจำปี 2553 จำนวน 10 อันดับ ในชื่อ ''Top Risks for 2010'' โดยปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 1 ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐ อันดับที่ 2 คือ อิหร่าน อันดับ 3 ได้แก่ ความหลากหลายทางการเงินของยุโรป ขณะที่ญี่ปุ่นติดอันดับที่ 5

รายงานชี้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐติดอันดับ 1 เพราะอัตราว่างงานสหรัฐยังอยู่ในระดับสูงและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีนจะยิ่งทวีความตึงเครียดในปีนี้ และสำหรับจีนเองนั้น การเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจกับสหรัฐดูเหมือนว่า ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะมีความดึงดูดใจน้อยกว่าช่วง 2-3 ปีที่แล้ว ในขณะที่การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐจะมีขึ้นในเดือนพ.ย. คาดว่า จะมีการใช้การเมืองกดดันนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น รวมถึงเรื่องความตึงเครียดด้านนโยบายการลงทุนทั้งในสหรัฐและจีน การวิจารณ์อย่างรุนแรงของจีนเมื่อประธานาธิบดีโอบามาผลักดันเรื่องเพดานการค้าเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภา ความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเรื่องเหล็ก และประเด็นต่างๆที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนระบบอินเทอร์เน็ต

สำหรับอิหร่านซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ 2 นั้น รายงานระบุว่า อิหร่านดูเหมือนสัตว์ที่ถูกต้อนจนมุมและบาดเจ็บมากขึ้น ปีนี้จึงดูเหมือนว่า จะมีการลงมือทำอะไรสักอย่างออกมา ขณะที่ยุโรปนั้น เรายังไม่เห็นว่ามีความชัดเจนในเรื่องความแตกต่างระหว่างตลาดเกิดใหม่และตลาดที่อิ่มตัวแล้วในเขตเศรษฐกิจที่ใช้สกุลเงินยูโรในปีนี้

สำหรับอันดับที่ 5 นั้น รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ในญี่ปุ่นถือเป็นการปรับโฉมหน้าญี่ปุ่น โดยมีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การนำของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะอยู่ไม่ครบปีในปีนี้ เนื่องจากนโยบายของรัฐที่ไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันกับความต้องการของธุรกิจขนาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางการเงิน และทำให้เกิดความกังวลว่า ญี่ปุ่นอาจจะต้องเผชิญกับภาวะถดถอยอีกครั้งในปีนี้

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ติดอันดับอีก 6 อันดับ ได้แก่ กฎระเบียบด้านการเงินของสหรัฐ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ บราซิล อินเดียและปากีสถาน ยุโรปตะวันออก และตุรกี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ