ก.พลังงานคาดความต้องการใช้ NGV ปี 53 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 5, 2010 16:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ความต้องการใช้เอ็นจีวีในปี 53 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 5,310 ตัน/วัน จากปีก่อนการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,673 ตัน/วัน ซึ่งในส่วนของแผนรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นนั้น บมจ.ปตท.(PTT) มีแผนจะขยายสถานีบริการเพิ่มขึ้นเป็น 440 แห่ง เพิ่มจากปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 391 แห่ง และขยายรถขนส่งเอ็นจีวีเพิ่มเป็น 1,600 คัน จากปีก่อนอยู่ที่ 1,120 คัน ซึ่งคาดว่าเพียงพอรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ในปี 52 การใช้เอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจากปี 51 ถึง 79% โดยปี 51 เฉลี่ยการใช้ 2,050 ตัน/วัน โดยปริมาณรถยนต์ที่ติดตั้งเอ็นจีวีเพิ่มขึ้นจาก 1.27 แสนคันในปี 51 มาอยู่ที่ 1.62 แสนคันในปี 52 สำหรับการใช้เอ็นจีวีที่เพิ่มขึ้นในปี 52 เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะในปี 52 ระดับราคาน้ำมันไม่ได้สูงเหมือนปี 51 แต่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลรณรงค์ให้มีการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น

นายณอคุณ กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนรองรับการนำเข้าแอลพีจีที่จะเพิ่มขึ้นทั้งในกรณีปกติ และกรณีที่โรงแยกก๊าซฯ โรงที่ 6 ของ ปตท.ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้

โดยจะพิจารณาเพิ่มสำรองแอลพีจีจาก 0.5% ของความต้องการใช้เป็น 1% ของความต้องการใช้ โดยจะพิจารณาคลังเก็บแอลพีจีว่ามีเพียงพอหรือไม่, ระดับราคาควรจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันราคาถูกตรึงอยู่จนถึงเดือนส.ค.53, การจ่ายเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และจะลดการนำเข้าหรือจะจัดหาแอลพีจีอย่างไรให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในปีนี้

กระทรวงพลังงานคาดว่า หากโรงแยกก๊าซโรงที่ 6 ของ ปตท.ไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ จะต้องนำเข้าแอลพีจีเดือนละ 1 แสนตัน และจะต้องใช้เงินจากกองทุนฯ ชดเชยประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้สถานะกองทุนฯ มีปัญหา

กระทรวงพลังงานยังได้จัดทำ Energy Crisis Management Plan หรือแผนบริหารจัดการวิกฤตด้านพลังงาน ซึ่งแผนนี้จะทำให้ครอบคลุมวิกฤตพลังงานที่จะเกิดขึ้น ทั้งด้านน้ำมัน, ไฟฟ้า, ก๊าซ และพลังงานอื่นๆ โดยแผนนี้ได้เริ่มจัดทำตั้งแต่เดือนต.ค.ปีที่แล้ว และคาดว่าจะเสร็จสิ้นในไตรมาส 1 ปีนี้ หลังจากนั้นในเดือนพ.ค.แผนที่ทำเสร็จสิ้นก็จะเสนอให้ IEA หรือ(International Energy Agency) ทำการ Review แผนนี้ให้กับกระทรวงพลังงานโดยไม่คิดเงิน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ IEA ได้ทำการ Review แผนด้านพลังงานให้กับประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นประเทศสมาชิก เพราะปกติจะทำให้เฉพาะประเทศสมาชิกเท่านั้น แต่เนื่องจากไทยมีสัมพันธ์ที่ดีกับ IEA มาก

สำหรับสาระสำคัญของแผนในด้านไฟฟ้าจะมีการจัดทำแผนรองรับความเสี่ยงกรณีไฟฟ้าตกดับ และการขาดส่งก๊าซมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า เพราะปัจจุบันไทยใช้ก๊าซในการผลิตไฟฟ้ามากถึง 70% และในปีที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการขาดก๊าซจากแหล่งต่างๆ ทำให้เกิดปัญหา

ในขณะที่แผนเรื่องแอลพีจีจะเน้นในเรื่องของการจัดหา การนำเข้า เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในระดับราคาที่ไม่แพงมากนัก การจัดทำแผนการสำรองเชื้อเพลิงในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งในเรื่องนี้มีความข้อตกลงความร่วมมือในอาเซียน หรือ APSA (ASEAN Petroleum Security Agreement) ซึ่งจะให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกในอาเซียนหากเกิดกรณีขาดแคลนพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ