นายสถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ผลการเปิดรับลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบตั้งแต่วันที่ 1-30 ธ.ค. 52 พบว่า มีประชาชนมาลงทะเบียน จำนวนทั้งสิ้น 950,000 ราย คิดเป็นมูลหนี้รวมประมาณ 100,500 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 1 แสนบาท/ราย
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลการเปิดรับลงทะเบียนที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน พบว่า ในช่วงใกล้ปิดโครงการมีประชาชนเข้ามาลงทะเบียนหนาแน่นมากขึ้น ทำให้กระทรวงการคลัง ขยายเวลาการเปิดรับลงทะเบียนต่อไปจนถึง 31 ม.ค. 53
ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปหลังจากได้เปิดรับลงทะเบียนแก้ไขหนี้นอกระบบของประชาชน ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน จะได้มีการส่งข้อมูลทั้งหมดให้กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณาคัดแยกหนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 18 ม.ค. 53 จากนั้นกรมบัญชีกลางจะส่งข้อมูลไปยังธนาคาร 6 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธกส. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ibank) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ภายในวันที่ 20 ม.ค.53 ก่อนจะเริ่มกระบวนการประนอมหนี้ในวันที่ 1 ก.พ.53
"ผู้ที่เข้ามาลงทะเบียนขอแก้หนี้นอกระบบ มีกว่า 950,000 คน ใกล้เคียงที่ตั้งเป้าไว้ที่ 1 ล้านคน...จากข้อมูลที่ใกล้สิ้นสุดวันปิดโครงการมีคนมาลงทะเบียนมาก ทำให้เราขยายเวลาไปอีกถึงสิ้นเดือนนี้ ส่วนการเริ่มประนอมหนี้ก็ใครมาลงทะเบียนก่อน ก็ได้สิทธิก่อน" นายสถิตย์ กล่าว
นายสถิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ที่มีมูลหนี้ต่ำกว่า 50,000 บาท/ราย ทั้งหนี้นอกภาคเกษตรและภาคเกษตร ไม่ต้องเข้ากระบวนการประนอมหนี้ที่มีคณะกรรมการเจรจาประนอมหนี้ ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากหลายฝ่าย แต่จะให้ ธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. พิจารณารับแก้ปัญหาหนี้ให้ทันที