SCRIคาดเงินเฟ้อ53โต 3.5% แม้เร่งตัวเร็วแต่ไม่กดดันกนง.ขึ้นดอกเบี้ยในQ1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 11:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) ประมาณการณ์ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยในปี 53 จะอยู่ที่ระดับ 3.5% ซึ่งขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 52 โดยมีปัจจัยสำคัญจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางการกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกให้มีโอกาสที่จะกลับมาปรับตัวเร่งขึ้นอีกครั้ง

โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ประเมินว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 20% จากในปี 52 ซึ่งคาดว่าในปีนี้ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ระดับ 75 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะที่ในปี 52 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 62 ดอลลาร์/บาร์เรล นอกจากนี้การที่ภาคอุปสงค์ในประเทศของไทยปีนี้มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าจะเริ่มปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโดยรวมมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 52

ทั้งนี้แม้รัฐบาลจะต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพออกไปอีก 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุด 31 มี.ค.53 ก็ตาม แต่ SCRI เชื่อว่าจะกระทบกับภาพรวมอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยทั้งปีนี้ไม่มากนัก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยของไทยปีนี้จะขยายตัวในระดับ 3.5% โดยมีจุดสูงสุดอยู่ในช่วงไตรมาส 1/53 ก่อนที่แนวโน้มในช่วงถัดไปจะเริ่มทรงตัวอยู่ในกรอบ 2-4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วง 1-1.5%

SCRI ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในระยะสั้นจะไม่ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ต้องตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในช่วงไตรมาส 1/53 นี้ เพราะพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยในหลายส่วนยังไม่ได้ฟื้นตัวอย่างชัดเจนนัก หาก กนง.เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลลบต่อแนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปให้มีโอกาสฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด

"เชื่อว่าอย่างน้อยภายในช่วงไตรมาส 1/53 กนง.ยังคงไม่น่าจะตัดสินใจปรับเปลี่ยนระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากในระดับในปัจจุบัน เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในหลายส่วนยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ทั้งนี้มองว่า การที่อัตราเงินเฟ้อกลับมาปรับตัวเร่งขึ้นเป็นผลจากระดับฐานของราคาสินค้าที่ต่ำในปีก่อน ไม่ได้มีปัจจัยจากการขยายตัวของระดับการใช้จ่ายในประเทศ ดังนั้นจึงมองว่า กนง.ยังไม่มีความจำเป็นมากนักในการใช้นโยบายการเงินที่ตึงตัวเข้ามาควบคุมทิศทางระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ

SCRI เชื่อว่า กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ต่อเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวในอัตราเร่งของอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่มาจากแรงกดดันด้านของอุปสงค์ (Demand-pull) เพราะถ้าช่วงดังกล่าวไม่มีการส่งสัญญาณการใช้นโยบายการเงินต่อตลาดให้ชัดเจนอาจจะส่งผลให้เกิดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในตลาดที่สูงกว่าความเป็นจริง และมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อในรอบที่ 2 (second round effect) ก็เป็นได้ ทำให้ในท้ายสุดจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อในประเทศขยายตัวสูงเกินกว่าจุดดุลยภาพที่ควรจะเป็น และเท่ากับเป็นการลดศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

"คาดว่า กนง.จะตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วง Q2-Q3/53 โดยประเมินความเป็นไปได้ในเบื้องต้นจากระดับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่คาดว่าจะเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งในภาพรวมอาจจะส่งผลให้เริ่มมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นในตลาด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

อย่างไรก็ดี SCRI ประเมินว่าทั้งปี 53 กนง.จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 25-50 bps เท่านั้น ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในหลายๆด้านที่ยังคงไม่ฟื้นตัว ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย (1 Day-RP) มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปที่ระดับ 1.5-1.75%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ