ครม.ศก.รับทราบอัตราว่างงานแนวโน้มดีขึ้น-ศึกษาเพิ่มขีดความสามารถแข่งขัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 13:27 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)ในวันนี้ว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ด้านแรงงานไทย สำหรับอัตราการว่างงานรายเดือนในปี 52 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประมาณว่าอัตราการว่างงานในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.52 จะลดลงเหลือ 1.1 หรือคิดเป็นประมาณ 400,000 คน จาก เม.ย.52 ที่มีอัตราว่างงานสูงสุด 2.1% และลดลงเหลือ 1.2% ในเดือน ก.ย.52

สถานการณ์เลิกจ้างเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกันตนที่มาขึ้นทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเริ่มลดลงเหลือ 40,638 คนในเดือน พ.ย. 52 จากจำนวนที่เพิ่มสูงสุด 101,939 คนในเดือนก.พ.52

ขณะที่ความต้องการแรงงานนั้น สถานประกอบการแจ้งความต้องการแรงงานประมาณ 120,000 ตำแหน่ง โดยมีความต้องการแรงงานสูงขึ้นประมาณ 6.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และขณะนี้มีสัญญาณชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มจะประสบภาวะขาดแคลนแรงงานขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะแรงงานภาคอิเล็คทรอนิคส์และยานยนต์ ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมาถูกเลิกจ้างไปบางส่วน และในขณะนี้ไม่มีความสนใจที่จะกลับมาทำงานเดิม

อย่างไรก็ตาม หากมีการระงับโครงการในมาบตาพุดทั้ง 65 โครงการ คาดว่าจะมีลูกจ้างได้รับผลกระทบประมาณ 40,000 คน และหากมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ จะมีการจ้างแรงงานราว 15,000 ตำแหน่ง

นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจ ยังรับทราบรายงานสถานภาพความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยปี 52 ที่จัดทำโดย World Economic Forum:WEF ที่จัดอันดับของประเทศไทยลดลง 2 อันดับจากอันดับที่ 34 ในปี 51 มาเป็นอันดับที่ 36 ในปี 52 จากการจัดอันดับทั้งหมด 131 ประเทศ ขณะที่สถาบันการจัดการนานาชาติ(IMD)ประกาศตัวเลขอันดับความสามารถของการแข่งขันปี 52 โดยจัดอันดับประเทศไทยดีขึ้น 1 อันดับจาก 27 ในปี 51 มาเป็นอันดับ 26 ในปี 52 จากการจัดอันดับทั้งหมด 55 ประเทศ

ครม.ศก.เห็นว่า ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการวิเคราะห์จุดอ่อน ด้านความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ชัดเจน เพื่อดำเนินการจัดทำแนวทางการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยระยะสั้นควรเน้นการแก้ไขปัญหาด้าน Business Operation เป็นลำดับแรก นอกจากนี้ ควรให้สถาบันการศึกษาในภูมิภาคร่วมกับภาคเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาจุดอ่อนในเรื่องนวัตกรรมของไทยด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรนำรายงานในลักษณะเดียวกันของ JETRO และหอการค้าต่างประเทศมาพิจารณาด้วย

ที่ประชุมยังเห็นว่า ระยะต่อไป ประเทศไทยควรพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว เช่น ประสิทธิภาพในการผลิตและการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทยที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร เป็นต้น

ทั้งนี้ ครม.เศรษฐกิจ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการจัดทำรายละเอียดตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนของประเทศและจัดส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้มอบหมายให้คณะกรรมการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานดำเนินการจัดทำยุทธศาสตร์การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นหน่วยงานหลักในการวบรวมข้อมูลให้กับ WEF และ IMD ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ