(เพิ่มเติม1) ครม.ศก.เลือกรูปแบบ PPP เดินรถไฟสีม่วง คาดTORแล้วเสร็จ-เปิดประมูลปี 54

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 15:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)วันนี้ได้ข้อยุติในเรื่องรูปแบบการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ) ใช้รูปแบบ PPP Gross Cost ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยภาครัฐลงทุนค่างานโยธาทั้งหมด และเอกชนลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตามมาตรฐานที่กำหนดในเงื่อนไขสัญญา

ทั้งนี้ รัฐจะเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและรายได้เชิงพาณิชย์ จากการใช้ประโยชน์และโครงสร้างงานโยธาและรถไฟฟ้าทั้งหมด และรัฐจะจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง

รูปแบบดังกล่าวจะช่วยให้เกิดการกระจายความเสี่ยงทั้งในด้านผู้โดยสาร และต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสมกว่ารูปแบบที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน และทำให้ภาครัฐสามารถกำหนดอัตราค่าโดยสารเพื่อจูงใจให้เกิดการใช้ระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายวัชระ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เศรษฐกิจได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการคลัง, สำนักงบประมาณ และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ไปพิจารณารายละเอียดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535

ตลอดจนประเมินปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การทดสอบตลาด เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักลงทุน, กำหนดอัตราผลตอบแทนการลงทุนภาคเอกชน เพื่อให้มีการแข่งขันในด้านต้นทุนการให้บริการของเอกชน และการกำหนดขอบเขตการดำเนินโครงการควรพิจารณาเรื่องการโอนรถไฟฟ้าให้เป็นของรัฐอย่างรอบคอบ โดยนำความเสี่ยงต่างๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย ทั้งนี้ ให้จัดทำให้แล้วเสร็จก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีชุดใหญ่ต่อไป

อย่างไรก็ดี กระทรวงคมนาคมได้รายงานต่อที่ประชุมว่าการจัดทำทีโออาร์จะใช้เวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จและเปิดประมูลได้ในปี 54 ส่วนการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและเปิดเดินรถได้ในปี 57 โดยมีกรอบลงทุนราว 13,000 ล้านบาท

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ยังรับทราบการปรับเพิ่มวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาระบบรถไฟฟ้าอีก 382 ล้านบาท ทำให้วงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 1,678 ล้านบาท จากเดิม 1,296 ล้านบาท แต่ได้มอบหมายให้ 4 หน่วยงานข้างต้นไปพิจารณาความเหมาะสมของวงเงินดังกล่าวอีกครั้ง ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายวัชระ กล่าวต่อว่า นายกฯ สอบถามเรื่องการลงทุนในส่วนของภาคเอกชน โดยตั้งคำถามถึงกรรมสิทธิในตัวรถว่าเมื่อดำเนินการจะเป็นของรัฐตั้งแต่วันแรก หรือ ต้องรอครบอายุสัมปทานก่อน อีกทั้งเงื่อนไขการประมูลหรือทีโออาร์จะแยกกันอย่างไร จะใช้ตัวเลขมาตรฐานหรือบรรทัดฐานตัวไหนมาวัด เช่น บริษัท ก. เสนองบลงทุนทางด้านฮาร์ดแวร์ แต่ค่าบริการถูกกว่า แต่อีกบริษัทเสนอค่าบริการที่แพงกว่า การการลงทุนฮาร์ดแวร์ที่ถูกกว่าในวงเงินประมูลที่เท่ากันเราจะใช้มาตรฐานตัวไหนมาวัด ขณะที่นายกอร์ปศักดิ์ เห็นว่า หากรอจนครบสัมปทานใช้เวลา 30 ปี ตัวรถก็กลายเป็นขยะไม่มีมูลค่าทางบัญชี พร้อมกับระบุว่า เงื่อนไขต่าง ๆไม่ต้องไปสนใจ โดยเสนอว่ารัฐบาลอาจจะออกประกาศการให้ผลตอบแทนค่าจ้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง เงื่อนไขก็จะดูว่าเอกชนจะเข้ามาบริหารจัดการเท่าไร และปล่อยให้ไปบริหารจัดการเอาเอง แต่ข้อเสนอนี้ที่ประชุมยังรับเป็นข้อสังเกตเท่านั้น

ทั้งนี้ที่ ที่ประชุมจึงได้มีมติให้กระทรวงคมนาคมไปหารายละเอียดมาตรฐานกลางใหม่ในการตัดสินการประมูล โดยไม่ต้องมีรายละเอียดหยิบย่อย เพราะจะกลายเป็นข้อครหาและการฟ้องร้องอีก เช่นเดียวกับสัมปทานโทรศัพท์มือถือ

ด้านนายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ครม.เศรษฐกิจ ได้มอบหมายให้ รฟม.ไปเจรจากับ บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ(BMCL)เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินในปัจจุบันให้เป็นรูปแบบ PPP เช่นเดียวกัน ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งรัฐและเอกชน โดยในส่วนของเอกชนจะไม่มีความเสี่ยงด้านรายได้ เพราะรัฐจะจ่ายเป็นค่าจ้างเดินรถให้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ