ธปท.เผยสภาวะการเงินเปลี่ยนส่งผลแบงก์แข่งขันสูง-ต่างชาติเพิ่มบทบาท กระทบกำไร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง"การเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางการเงินและระบบธนาคารพาณิชย์ไทย"ว่า การแข่งขันในระบบการเงินเพิ่มมากขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมทางการเงิน โดยตลาดการเงินมีความหลากหลายมากขึ้น การแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพิ่มสูงขึ้น และต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาจากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหลัก ไก่แก่ ผลของการเปิดเสรีทางกการเงิน, การปฏิรูปภาคการเงินหลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 40 การปฏิรูประบบกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงิน และ การเปลี่ยนเทคโนโลยีด้านข้อมูลข่าวสาร

ผลงานวิจัยระบุว่า แม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะยังเป็นเสาหลักในระบบการเงินไทย แต่ความสำคัญของภาคการเงินอื่น ๆ เริ่มมีมากขึ้น เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และตลาดทุน สัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์ของสถาบีนการเงินเฉพาะกิจเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า ระหว่างปี 43 ถึงปี 51 และหน่วยลงทุนก็มีมูลค่าสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจาก 3 พันล้านบาท มาเป็น 1 แสนล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่การแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์เริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะทางด้านตลาดเงินกู้ มีการกระจายตัวของสินเชื่อเพิ่มมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก

ในกรณีของธนาคารขนาดใหญ่ ความพยายามที่จะแย่งกันเป็นผู้นำตลาดทำให้ส่วนแบ่งตลาดของธนาคารบางแห่งเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 43 มาเป็น 13%ของเงินปล่อยกู้ในปี 51 ส่วนการแข่งขันของธนาคารขยนาดเล็กเองก็มีเพิ่มมากขึ้น สาขาธนาคารต่างชาติบางแห่งในปัจจุบัน มีมูลค่าสินทรัพย์ ปริมาณเงินฝาก ปริมาณเงินกู้ สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดเล็ก

อีกทั้ง ต่างชาติเข้ามามีบทบาทในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมากขึ้น สัดส่วนสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นของชาวต่างชาติ เพิ่มสูงขึ้นจาก 32% ในปี 43 มาเป็น 49% ในปี 51 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการเพิ่มทุนของธนาคารพาณิชย์ หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 20 ทำให้บางธนาคารมีชาวต่างชาติถือหุ้นสูงถึง 49% ของทุนจดทะเบียน

"การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่เข้ามาในรูปของนักลงทุนรายย่อยซึ่งไม่สิทธิ์ในการบริหาร อย่างไรก็ตามการที่มีผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นอาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารพาณิชย์เหล่านี้ต้องทำกำไรเพิ่มขึ้น" เอกสาร ระบุ

อย่างไรก็ตาม ไทยได้ออกแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะ 2 ซึ่งเริ่มดำเนินงานในปี 53-57 ต่อเนื่องจากแผนฉบับที่ 1 ซึ่งนโยบายสำคัญ คือ การส่งเสริมการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินและมีการอนุญาตให้มีผู้บริการรายใหม่ในระบบสถาบันการเงินโดยไม่จำกัดสัญชาติ ซึ่งจะทำให้สภาวะแวดล้อมทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปอีก ทั้งจากขอบเขตการประกอบธุรกิจและการแข่งขันที่มีมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทาย เพราะการเพิ่มบทบาทของต่างชาติอาจส่งผลดีในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบธนาคารไทย แต่การแข่งขันที่อาจเพิ่มขึ้น จึงอาจส่งผลให้กำไรลดลง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ