ธปท.แนะใช้การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตวิธี CCA ควบคู่เครื่องมืออื่น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)เผยแพร่ผลงานวิจัยเรื่อง"การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตและความเชื่อมโยงของงบดุลด้วยวิธี Contingent Claims Approach (CCA)"โดยระบุว่า วิกฤติเศรษฐกิจการเงินหลายครั้งมีจุดเริ่มต้นจากระบบการเงินที่เปราะบางและอ่อนไหวต่อความผันผวนของมูลค่าทรัพย์สินและหนี้สินของสถาบันการเงินโดยเฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจโลกล่าสุดจากปัญหาหนี้เสียภาคสถาบันการเงินชั้นนำของโลก และส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของสถาบันการเงินอื่น ผ่านการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุนและความผันผวนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก

จากผลกระทบดังกล่าวที่รุนแรงและแพร่กระจายรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาระบบการติดตามความเสี่ยงและความเปราะบางทางการเงินของภาคส่วนต่างๆของเศรษฐกิจ ที่สามารถประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต (Credit Risk) ได้ล่วงหน้าและมีเครื่องชี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงด้านงบดุลของสถาบันการเงินได้อย่างรวดเร็ว เพื่อการวางแผนป้องกันและรับมือวิกฤติได้อย่างทันท่วงที ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ วิธีหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาของการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิต โดยใช้ข้อมูลงบการเงินแบบเดิม คือการใช้แบบจำลองที่อิงกับทฤษฎีการเงินที่เรียกว่า Contingent Claims Approach (CCA) เพื่อใช้วัดความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะล้มละลาย หรือผิดนัดชำระหนี้ของภาคธุรกิจ โดยใช้ข้อมูลเร็วจากตลาดการเงินที่สะท้อนมูลค่าตลาดปัจจุบัน

หลักการของ CCA จะคำนวณความน่าจะเป็นในการผิดนัดชำระหนี้ (PD) จากผลต่างระหว่างมูลค่าสินทรัพย์กับหนี้สินที่ต้องชำระในอนาคต โดยค่าPD จะเพิ่มขึ้นหากมูลค่าสินทรัพย์ลดลงใกล้มูลค่าหนี้สิน ณ ราคาตลาดปัจจุบัน ซึ่งการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ตาม CCA จะใช้เพียงข้อมูลราคาหุ้นและค่าความผันผวนของราคาหุ้น เพื่อให้สามารถติดตามสถานะของการผิดนัดชำระหนี้ได้เป็นรายวัน ตามการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นและความผันผวนของหุ้นสถาบันการเงินหรือบริษัทที่ติดตาม

ทั้งนี้วิธี CCA จะมีข้อได้เปรียบเรื่องความรวดเร็วของการติดตามและการใช้ข้อมูลตลาดที่สะท้อนการคาดการณ์ในอนาคตแล้ว ยังใช้อธิบายความเสี่ยงด้านเครดิตในช่วงใกล้วิกฤติได้สอดคล้องกับความเป็นจริง นอกจากนี้ ยังใช้ประเมินความเสี่ยงของงบดุลของภาคเศรษฐกิจ ผ่านการถือครองสินทรัพย์และหนี้สินข้ามกันระหว่าง sector ต่างๆ เพื่อวัดการส่งผ่านความเสี่ยงจาก sector หนึ่งไปอีก sectorอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม พบว่าหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลก การประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตโดยใช้วิธี CCA มีเพิ่มสูงขึ้น แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการลดลงของทรัพย์สินหรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สิน แต่เป็นผลมาจากความผันผวนที่สูงขึ้นของมูลค่าตลาด แต่ทั้งนี้วิธี CCA ยังมีข้อจำกัด เนื่องจากภายใต้สมมติฐานหลายประการ เช่นความสมบูรณ์ของตลาดและข้อมูลข่าวสาร ราคาหุ้น เป็นตัวสะท้อนปัจจัยพื้นฐานมากกว่าการเก็งกำไร จึงอาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในบางช่วง จึงควรใช้เครื่องมืออื่นมาประกอบการวิเคราะห์เพื่อให้ได้ความชัดเจนและสมบูรณ์มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ