นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุดเห็นชอบให้จัดตั้งสำนักการมีส่วนร่วมของประชาชน คณะทำงานจะมีไม่เกิน 4-5 คน มีเจ้าหน้าที่ระดับซี 8 เป็นหัวหน้าคณะ คาดว่าจะจัดตั้งแล้วเสร็จในเดือนมกราคมนี้
ขณะเดียวกัน หน่วยงานที่มีหน้าที่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ก็จะมีการตั้งสำนักงานลักษณะดังกล่าวด้วยเช่นกัน อาทิ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม
การดำเนินการครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการเชิงรุกของกระทรวงอุตสาหกรรม เพราะหน่วยงานดังกล่าวมีภารกิจที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 เช่น การรับฟังความเห็นประชาชนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี โดยการทำงานจะไม่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น ส่วนภารกิจอื่นๆ จะมีการกำหนดรายละเอียดต่อไป และงานบางอย่างหากสามารถดำเนินการให้จบได้ในหน่วยงานนี้จะดำเนินการได้ทันที แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นก็จะส่งให้ดำเนินการต่อไป
และเพื่อให้มีความชัดเจนถึงกระบวนการอนุญาตประกอบกิจการอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กนอ.กลับไปจัดทำแผนภูมิขั้นตอนการอนุมัติการขอประกอบกิจการ ตั้งแต่แรกเริ่มระดับท้องถิ่นจนได้รับการออกใบอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างละเอียด เพื่อให้ทราบอย่างชัดเจนว่าขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติโครงการ ไม่ได้ดำเนินการโดยกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงหน่วยงานเดียว แต่มีกระบวนการหลายขั้นตอน
นอกจากนี้ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสหากรรม ยังขอความร่วมมือให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม และ กนอ.ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจโรงงานที่ได้รับ EIA หรือการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศว่าได้ทำตามถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการภายใน 60 วัน
รวมทั้ง ประเมินความเสี่ยงกิจการ/โรงงานที่เข้าข่ายอาจก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชนและประชาชน โดยให้เข้มงวดเรื่องการปฎิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ส่วนโรงงานที่ไม่อยู่ในข่ายต้องทำ EIA จะต้องมีแผนรองรับกรณีเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ด้วย เช่น กรณีเกิดก๊าซรั่ว จะต้องมีแผนรองรับดูแลตามหลักวิชาการอย่างเข้มงวด และหากเกิดอุบัติเหตุอันตรายจนทำให้มีผู้เสียชีวิตก็ให้หยุดดำเนินการเฉพาะส่วนงานนั้นทันที แต่หากอันตรายทั้งโรงงานก็ให้หยุดดำเนินกิจการทั้งหมด
พร้อมกับ ระบุว่า องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร ได้แสดงความห่วงใยในการแก้ไขปัญหาการลงทุนในมาบตาพุดของรัฐบาลไทย เพราะคาดว่าจะแก้ปัญหาได้เร็วที่สุดต้องใช้เวลา 4-5 เดือน โดยเจโทร มองว่าระยะเวลาดังกล่าว เป็นระยะเวลานานเกินไป จึงอยากให้แก้ไขปัญหามีระยะเวลาที่รวดเร็วขึ้น เนื่องจากกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของแหล่งเงินทุนและสถาบันการเงิน จนอาจถอนการสนับสนุนทางการเงินที่ให้กับโครงการร่วมลงทุนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายโครงการได้
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้แจงให้ทางเจโทรเข้าใจ ถึงกรณีการปัญหาที่จะเกิดขึ้นในด้านการสนับสนุนทางการเงินจากสมาคมธนาคารไทย ว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดถอนความช่วยเหลือทางการเงิน แต่หากมีการถอนการสนับสนุนทางการเงินจริง ทางสถาบันการเงินของไทย โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารกรุงไทย ก็พร้อมเข้าไปให้การสนับสนุนแก่นักลงทุน
นายชาญชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะมีปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด แต่นักลงทุนญี่ปุ่น ยังคงมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไป เนื่องจากญี่ปุ่นลงทุนในไทยจำนวนมากแล้ว
ด้านนางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้เตรียมทีมงานเพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงานรับฟังความคิดเห็นประชาชนขึ้นในสำนักงานของ กนอ.แล้ว สำหรับการอนุมัติโครงการใหม่ ขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่ไม่อยู่ในประกาศอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง เพราะเป็นอุตสหากรรมประกอบชิ้นส่วนยานยนต์
ขณะที่นายประพัฒน์ วนาพิทักษ์ อธิบดีกรมโรงงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการ ยื่นขอดำเนินโครงการ 80 โรงงาน ซึ่งอยู่ใน 8 ประเภทกิจการที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนแต่อยู่ระหว่างรอการพิจารณา