นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ได้กำหนดมาตรการดูแลการนำเข้าข้าวภายใต้อาฟตา โดยกำหนดให้เฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้ปลายข้าวเป็นวัตถุดิบเท่านั้นที่สามารถนำเข้าได้ และนำเข้าได้เฉพาะปลายข้าว มีกำหนดช่วงระยะเวลานำเข้า 2 ช่วง คือ เดือนพ.ค.-ก.ค. และเดือนส.ค.-ต.ค. เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวไทยออกน้อยที่สุด โดยจะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาอนุมัติ และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป หากได้รับความเห็นชอบ กรมการค้าต่างประเทศจะออกเป็นประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการนำเข้าได้ทันที
“เราให้นำเข้าได้เฉพาะปลายข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ได้ให้นำเข้าข้าวสาร จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเล็ดลอดเข้ามาปลอมปนกับข้าวไทย การลดภาษีนำเข้า ไม่ได้หมายความว่า ให้นำเข้าได้โดยเสรี เรายังมีมาตรการดูแลอยู่ ซึ่งเมื่อนำเข้าแล้ว เราจะมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม ว่านำเข้ามาเท่าไร ใช้ไปแค่ไหน ซึ่งผู้ที่นำเข้าจะต้องแจ้งให้เราทราบทั้งหมด" นางพรทิวากล่าว
นอกจากนี้ ในการนำเข้ายังได้กำหนดมาตรการดูแลการนำเข้า โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการนำเข้าปลายข้าว จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า และในการนำเข้าต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนด เช่น การตรวจสอบโรคพืช การตรวจสอบสารตกค้าง การตรวจสอบว่าปลอดการตัดแต่งทางพันธุกรรม (จีเอ็มโอ) และมีใบรับรองว่าเป็นสินค้าของอาเซียน
ส่วนด่านนำเข้า กำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะ 6 ด่าน คือ ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด่านจ.หนองคาย ด่านจ.ระนอง และท่าเรือกรุงเทพฯ เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม และมีหน่วยงานที่ตรวจสอบอยู่ครบ ทั้งกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมศุลกากร และหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์