ม.หอการค้าไทย คาดส่งออกไทยปีนี้มีโอกาสขยายตัว 10.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 7, 2010 17:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดภาวะการส่งออกของไทยในปีนี้มีความเป็นไปได้มากสุดที่จะขยายตัวในระดับต่ำแค่ 10.5% ซึ่งสวนทางกับเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดไว้ที่ 14%

"การส่งออกของไทยปีนี้คาดจะฟื้นตัวระดับต่ำเมื่อเทียบกับปี 51 หรือปี 41-44 ที่เคยเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยคาดมีโอกาสขยายตัวที่ 10.5% มากถึง 60% ซึ่งต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดขยายตัวที่ 14% ส่วนอีก 30% คาดขยายตัว 13.9% และอีก 10% คาดขยายตัว 6.4%" นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าว

การคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานว่าเศรษฐกิจโลกขยายตัว 3.1% การค้าโลกขยายตัว 2.5% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 32.60 บาท/ดอลลาร์ น้ำมันบาร์เรลละ 78.7 ดอลลาร์ การส่งออกไทยจะขยายตัว 10.5% มีมูลค่า 166,000 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าขยายตัว 14.4% มูลค่า 149,000 ล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้า 17,000 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 18,400 ล้านดอลลาร์

แต่หากเศรษฐกิจโลกขยายตัว 4.1% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33.40 บาท/ดอลลาร์ น้ำมันบาร์เรลละ 75.5 ดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัวเพิ่มเป็น 13.9% มูลค่า 172,000 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าขยายตัว 19.2% มูลค่า 156,000 ล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้า 15,800 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 17,600 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม หากในแง่เลวร้ายเศรษฐกิจโลกขยายตัวเพียง 2.1% อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.50 บาทต่อดอลลาร์ น้ำมันบาร์เรลละ 80.5 ดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัว 6.4% มูลค่า 160,000 ล้านดอลลาร์ การนำเข้าขยายตัว 9.5% มูลค่า 143,000 ล้านดอลลาร์ เกินดุลการค้าเกินดุล 17,100 ล้านดอลลาร์ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 18,500 ล้านดอลลาร์

ปัจจัยลบที่กระทบต่อการส่งออก คือ การลดค่าเงินด่องของเวียดนาม เพราะเวียดนามจะได้เปรียบด้านราคา สามารถขายสินค้าได้ถูกกว่า ทำให้มูลค่าการส่งออกไทยลดลง โดยสินค้าข้าวขาวกระทบมากสุด รองลงมาเป็น เสื้อผ้า รองเท้า และอาหาร ประมง

นอกจากนี้ ผลจากการเปิดเสรีการค้ากับจีน และการเปิดเสรีการค้าอาเซียน(AFTA) ทำให้การแข่งขันส่งออกด้านราคาสินค้ารุนแรงมากขึ้น อุตสาหกรรมไทยหลายสาขาที่มีต้นทุนผลิตสูงจะมีปัญหาส่งออก ดังนั้น ผู้ผลิตต้องปรับตัวเน้นผลิตสินค้าระดับบน เพราะตลาดยังเปิดกว้าง ส่วนสินค้าเกษตรน่าจะได้รับประโยชน์ เพราะไทยมีคุณภาพสินค้าดีกว่า โดยภาพรวม AFTA ทำให้การส่งออกไทยไปอาเซียนเพิ่ม 2.3% มูลค่า 2,300 ล้านดอลลาร์

ส่วนปัจจัยลบอื่น ได้แก่ ทิศทางดอกเบี้ยสูงขึ้นช่วงครึ่งปีหลัง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มซึ่งกระทบต่อต้นทุนการผลิต การเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีจากประเทศคู่ค้า รวมถึงความเสี่ยงจากการยืดชำระหนี้ของกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ และปัญหามาบตาพุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ