นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะอนุกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ด้านการผลิต ได้พิจารณาทบทวนการกำหนดปริมาณการรับประกันข้าวต่อครัวเรือน โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2552/53 รอบที่ 2 โดยเสนอ 2 แนวทางเพื่อพิจารณาดำเนินการ โดยนำข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกข้าวและปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่มาทำสัญญาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2552/2553 รอบที่ 1 ที่ ธ.ก.ส.ดำเนินการแล้วมาประกอบการคำนวณปริมาณประกันรายได้ รอบที่ 2
แนวทางแรกยังคงปริมาณการรับประกันผลผลิตต่อครัวเรือนเหมือนเดิมตามที่ได้เคยเสนอ กชช. ไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา โดยข้าวเปลือกเจ้าปทุมธานี 1 รับประกันผลผลิต 30 ตันต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ที่ทางราชการรับรอง รับประกันผลผลิต 30 ตันต่อครัวเรือน และข้าวเปลือกเหนียว รับประกันผลผลิต 20 ตันต่อครัวเรือน พื้นที่ปลูกไม่เกิน 40 ไร่
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาข้อมูลการขึ้นทะเบียนของผู้เข้าร่วมโครงการฯของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรในรอบที่ 1 มีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั้งประเทศร้อยละ 93 พบว่ามีเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกไม่เกิน 40 ไร่ รับประกันผลผลิต 25 ตันต่อครัวเรือนเข้าร่วมโครงการฯถึงร้อยละ 80 และหากเป็นการปลูกข้าวนาปรัง รับประกันปริมาณผลผลิต 30 ตันต่อครัวเรือน จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯร้อยละ 80 เช่นเดียวกัน เท่ากับว่าจำนวน 30 ตันต่อครัวเรือนเป็นปริมาณที่มากเกินไป
ดังนั้น แนวทางที่สอง กขช.จึงเสนอให้มีการกำหนดปริมาณรับประกันผลผลิตข้าวเปลือกเจ้าปทุมธานี 1 รับประกันผลผลิต 25 ตันต่อครัวเรือน ข้าวเปลือกเจ้าพันธุ์ที่ทางราชการรับรอง รับประกันผลผลิต 25 ตันต่อครัวเรือน และข้าวเปลือกเหนียว รับประกันผลผลิต 16 ตันต่อครัวเรือน ซึ่งปริมาณการรับประกันผลผลิตในปริมาณดังกล่าวนี้สามารถครอบคลุมการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้ร้อยละ 80 ซึ่งเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวส่วนใหญ่ของประเทศทั้งหมดแล้ว
ส่วนจะเป็นแนวทางใดนั้นขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ กชช. ซึ่งจากการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบแล้วสามารถดำเนินการได้ทั้ง 2 แนวทาง
สำหรับการกำหนดผลผลิตต่อไร่ของข้าวแต่ละชนิด รายจังหวัด โครงการฯในรอบที่ 2 นั้น ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเสนอ แยกเป็น ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ความชื้น 15% เฉลี่ยผลผลิต 759 กิโลกรัมต่อไร่ ข้าวเปลือกเจ้า ความชื้น 15% เฉลี่ยผลผลิต 697 กิโลกรัมต่อไร่ และข้าวเปลือกเหนียว ความชื้น 15% เฉลี่ยผลผลิต 539 กิโลกรัมต่อไร่