นักเศรษฐศาสตร์-นักวิชาการฟันธงกนง.นัดแรกคงอาร์/พี คาดเริ่มขยับขึ้น Q2/53

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 11, 2010 12:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

วงการตลาดเงินตลาดทุน รวมทั้งนักวิชาการ มีความเห็นพ้องกันว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)นัดแรกของปีนี้ในวันที่ 13 ม.ค.53 จะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ปัจจุบันอยู่ในระดับ 1.25% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อปลายปี 52 เร่งตัวขึ้นมาก แต่ยังไม่ได้สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ต้องจับตา โดยมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อช่วงกลางปีใกล้ 4% คาดว่า กนง.อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยปลาย พ.ค.-ก.ค.เป็นครั้งแรกในอัตรา 0.25%

ดอกเบี้ยนโยบาย

                                     13 ม.ค.53                    ทั้งปี 53

ธนาคารกรุงเทพ                         1.25% (ไม่เปลี่ยนแปลง)        1.75-2.0% (+0.50-0.75%)
ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)         1.25% (ไม่เปลี่ยนแปลง)        1.25%     (ไม่เปลี่ยนแปลง)
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯม.หอการค้าไทย        1.25% (ไม่เปลี่ยนแปลง)        1.75-2.0% (+0.50-0.75%)
สถาบันวิจัยนครหลวงไทย                   1.25% (ไม่เปลี่ยนแปลง)        1.50-1.75%(+0.25-0.50%)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                        1.25% (ไม่เปลี่ยนแปลง)

นายพงศ์พัฒน์ คุโรวาท ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ เชื่อว่า กนง.นัดแรกของปี 53 จะยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมที่ 1.25% ต่อไป จนกว่าจะเห็นความชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเชื่อว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 2-ไตรมาส 3/53 ที่ กนง.อาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

สำหรับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ธ.ค.52 ที่เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ระดับ 3.5% ยังไม่ได้เป็นแรงกดดันต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. แต่เป็นปัจจัยที่ต้องจับตามากขึ้น และแนวโน้มเงินเฟ้อปีนี้อาจจะปรับสูงขึ้นหากรัฐบาลไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะสิ้นสุดปลายมี.ค.นี้ และเทียบฐานปีก่อนที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ นอกจากนี้ เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยภายนอก คือการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน แต่คงจะไม่สูงอย่างผิดปกติเหมือนเมื่อปี 51 แต่อาจปรับขึ้นมาใกล้ 100 ดอลลาร์/บาร์เรล

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)อาจมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงดือน มี.ค.-เม.ย.53 จากที่อยู่ระดับ 0.25% ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่คงไม่ปรับขึ้นในอัตราที่เร็วและแรง และเชื่อว่า ธปท.คงไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตามในทันที

"เชื่อว่าในช่วงนี้แบงก์ชาติ คงยังไม่มี re-action จากเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น เพราะจากการเติบโตเศรษฐกิจ และการใช้จ่าย ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจคงยังไม่ได้แข็งแกร่งหรือร้อนแรงจนต้องกังวล แต่ไม่ใช่ปล่อยปละละเลย คงต้องจับตามอง เพราะมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าที่คาดได้เช่นกัน...ขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณให้เห็นความร้อนแรงการใช้จ่าย และราคาน้ำมันต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นก็ไม่ได้สูงมากจนน่าตกใจ"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 53 กนง.คงจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรวม 0.50-0.75% เป็นอย่างมาก

นายพงศ์พัฒน์ ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ อาจจะขยายตัวได้ในอัตรา 3-3.5% สอดคล้องกับการคาดการณ์จากหลายสำนัก แต่เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ต้องติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการไทยเข้มแข็ง จะต้องมีประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส่ ขณะที่ปัญหามาบตาพุดและปัญหาการเมืองยังเป็นแรงกดดันต่อเสถียรภาพรัฐบาล

"หากการเมืองไม่รุนแรงก็ไม่น่ากระทบเศรษฐกิจมาก เพราะเป็นเรื่องที่เรารับรู้มาตลอด แต่ปัจจัยที่น่าจะหนุนจีดีพี คือ โครงการไทยเข้มแข็ง หากใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพ ก็น่าจะหนุนให้จีดีพีโตได้ 4-5% แต่กรณีมาบตาพุด ก็มีผลฉุดจีดีพี 0.50%"นายพงศ์พัฒน์ กล่าว

น.ส.อุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารแสตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย)กล่าวว่า ธนาคารมองว่าทั้งปี 53 กนง.ก็ยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่คาดว่าน่าจะเริ่มปรับขึ้นในช่วงต้นปี 54 มากกว่า เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ แม้จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจจะเติบโตได้ตามเป้าหมายหรือไม่ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ขณะที่เงินเฟ้อแม้จะมีอัตราเร่งตัวขึ้น แต่มีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และสินค้าในหมวดอาหาร แต่หากดูเงินเฟ้อพื้นฐานแล้วยังอยู่ในระดับต่ำ และเชื่อว่าเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 53 ยังอยู่ในกรอบเป้าหมายของ ธปท.ที่ 0.5-3%

"ยังไม่คิดว่าเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาต่อเศรษฐกิจไทย เพราะมองแล้วเงินเฟ้อฟื้นฐานยังอยู่ในระดับต่ำ...คิดว่าปีนี้ ยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าเงินเฟ้อ" น.ส.อุสรา กล่าว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะขยายตัว 2.8% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวได้เร็วและต่อเนื่องหรือไม่ ขณะที่ภายในประเทศยังมีข้อจำกัดจากปัญหาการเมืองอีก ส่วนเงินเฟ้อทั่วไป (Headline Inflation) ปี 53 คาดว่าอยู่ที่ 3.7% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core Inflation) อยู่ที่ 1.5%

ส่วนนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีความเห็นสอดคล้องกันว่าการประชุมกนง.นัดแรกของปี 53 คงยังไม่มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอย่างแน่นอน และประเมินว่า กนง.อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงเดือน ปลาย พ.ค.-ก.ค.53 เป็นครั้งแรกในอัตรา 0.25% และทั้งปีอาจปรับขึ้นรวม 0.50-0.75% ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราเร่งตัวของการปรับขึ้นของเงินเฟ้อ

"ในช่วงกลางปีนี้ เงินเฟ้ออาจเพิ่มขึ้นใกล้ 4% และเป็นโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายอาจปรับขึ้นได้ หากรัฐบาลยกเลิก 5 มาตรการ 6 เดือน ประกอบกับราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอีก และต้องมาดูอีกว่าเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวทั้งในและต่างประเทศ" นายธนวรรธน์ กล่าว

นอกจากนี้ คงต้องดูการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ว่าจะปรับขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์หรือไม่ ซึ่งหากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 2-3 ครั้งตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ อาจมีผลทำให้ กนง.ต้องมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม

ขณะที่สถาบันวิจัยนครหลวงไทย ประเมินว่า กนง.น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาส 1/53 แนื่องจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหลายๆส่วนยังไม่ได้กลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ ดังนั้น หากเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแล้ว อาจจะส่งผลลบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงถัดไปที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าคาด

นอกจากนี้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่กลับมาเร่งขึ้น มาจากปัจจัยด้านระดับฐานของราคาสินค้าที่ต่ำในปีก่อนหน้า แต่ไม่ใช่การขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศ ดังนั้น จึงมองได้ว่ายังคงไม่มีความจำเป็นมากนักที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวเข้ามาควบคุมทิศทางระดับอัตราเงินเฟ้อในประเทศ

ทั้งนี้ มองว่า กนง.จะเริ่มตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเห็นสัญญาณการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อที่มาจากแรงกดดันด้านของอุปสงค์ เพราะหากไม่มีการส่งสัญญาณต่อตลาดให้ชัดเจน อาจส่งผลให้เกิดการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าความเป็นจริง และมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อในรอบที่ 2 ทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงเกินกว่าจุดดุลยภาพที่ควรจะเป็น ซึ่งจะเป็นการลดศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก และไม่เกิดผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

ดังนั้น มองว่า กนง.จะมีการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นในช่วงประมาณไตรมาส 2-ไตรมาส 3/53 โดยประเมินความเป็นไปได้ในเบื้องต้นจากระดับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่คาดว่าจะเริ่มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในภาพรวมอาจจะส่งผลให้เริ่มมีความวิตกกังวลต่อสถานการณ์อัตราเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นในตลาด โดยคาดว่าทั้งปี 53 กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25-0.50% ตามปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจในหลายๆด้านที่ยังคงไม่ฟื้นตัว

ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปี 53 คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% โดยมีจุดสูงสุดอยู่ประมาณในช่วงไตรมาส 1/53 ก่อนที่แนวโน้มในช่วงถัดไปจะเริ่มทรงตัวในกรอบประมาณ 2-4% แม้รัฐบาลจะมีการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพออกไปอีก 3 เดือนสิ้นสุดเดือน มี.ค.53 แต่เชื่อว่าจะกระทบภาพรวมของระดับอัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยทั้งปีไม่มากนัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า กนง.คงจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบแรกของปีท่ามกลางความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีน้ำหนักสำคัญ ขณะที่ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อโดยเฉพาะจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ คาดว่า กนง.คงเลือกที่จะรอติดตามการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยต่อไปอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยเมื่อมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ

แม้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจจะยังไม่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่สถาบันการเงินต่างๆ อาจยังมีแนวโน้มที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานลูกค้าและต่ออายุผลิตภัณฑ์เดิมที่กำลังทยอยสิ้นสุดอายุโครงการลง (ถึงแม้ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปของสถาบันการเงินอาจจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเอกชนก็ตาม)

ขณะเดียวกัน แรงกดดันเงินเฟ้อในประเทศที่มีแนวโน้มก่อตัวขึ้น กอปรกับการระดมเงินเพื่อใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้กรอบนโยบายงบประมาณขาดดุลและแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ก็อาจผลักดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรโดยเฉพาะประเภทระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ