นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นจากการติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติในระยะที่ 1 (ช่วงเดือน ต.ค.52-มี.ค.53) คาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่เฝ้าระวังจำนวน 60 จังหวัด ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงเร่งประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร เพื่อแต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับกระทรวง
พื้นที่เฝ้าระวังทั้งหมดอยู่ในภาคเหนือ 15 จังหวัด ภาคกลาง 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ภาคตะวันออก 7 จังหวัด และภาคใต้ 14 จังหวัด ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงจะเปิดตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.นี้ จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วยปฏิบัติการที่จะคลอบคลุมพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ และกรมชลประทานจะวางแผนบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยร่วมกับคณะอนุกรรมการวางแผนและส่งเสริมการปลูกพืชฤดูแล้งให้เป็นไปตามเป้าหมาย
นายธีระ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร จะประกอบด้วย รองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดเป็นกรรมการ เพื่อทำหน้าที่ติดตาม เร่งรัดการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยจะมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน
ดังนั้น การวางระบบการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร โดยมุ่งเน้นด้านการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติด้านการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นแก่เกษตรกร และลด ภาระงบประมาณของรัฐบาลได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งในปีงบประมาณ 52 ที่ผ่านมารัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรเป็นเงิน 6,444 ล้านบาท
ส่วนทางด้านแผนเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ประจำปีงบประมาณ 53 จะเป็นแนวทางการดำเนินการป้องกันและลดผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเตรียมรับสถานการณ์ป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร และให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยมีแนวทางการบริหารจัดการภัยพิบัติด้านการเกษตร แบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ คือ
ก่อนเกิดภัย ประกอบด้วย การวิเคราะห์และจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย การเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัย การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน การประชาสัมพันธ์ และให้คำแนะนำทางวิชาการด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ , ขณะเกิดภัย ประกอบด้วย การติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนภัย การประเมินความเสียหายและการรายงาน การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
และ หลังเกิดภัย ประกอบด้วย การสำรวจความเสียหาย การให้ความช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนโดยใช้เงินทดรองราชการและเงินงบกลาง การฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรและอาชีพเกษตรกรรม
นายธีระ กล่าวว่า การเตรียมรับสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ช่วงเดือน ต.ค.52-มี.ค.53 และ ระยะที่ 2 ช่วงเดือน เม.ย.-ก.ย.53 โดยได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงภัย พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการป้องกันและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ในแต่ละช่วงดังกล่าว ขณะเดียวกัน จะมีการทบทวนแผน กำหนดให้มีการทบทวนแผนทุก 6 เดือน หรือตามความเหมาะสมของสถานการณ์