นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบตามรายงานของกระทรวงการคลังในการรายงานผลงานรัฐวิสากิจปี 51 ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการตั้งข้อสังเกตุต่อประเด็นการแต่งตั้งระดับผู้บริหารในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไว้ ซึ่งพบว่า บางแห่งมีขั้นตอนการแต่งตั้งที่มีความล่าช้ามาก ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการนโยบายขององค์กร รวมถึงว่าเริ่มมีวัฒนธรรมในการที่คณะกรรมการลาออกยกชุด
ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเสนอว่าจากนี้ต่อไป คณะกรรมการบริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่สามารถที่จะลาออกยกชุดได้ เนื่องจากจะทำให้นโยบายขาดความต่อเนื่อง และกรณีการแต่งตั้งระดับผู้บริหารของรัฐวิสากิจ กระทรวงการคลังได้ตั้งเกณฑ์ไว้จากนี้ไปกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งระดับผู้บริการในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งครม.เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว
"แม้ 1 ปีค่อนข้างจะนาน แต่ก็เข้าใจว่าบางหน่วยงานมีข้อจำกัดและมีกระบวนการในการคัดสรรหลายขั้นตอน" นายกรณ์ กล่าว
นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการรายงานของกระทรวงการคลังถึงผลการดำเนินงานในปี 51 ของ 52 รัฐวิสาหกิจและอีก 1 บริษัท พบว่าได้คะแนนเฉลี่ย 3.59 จากคะแนนเต็ม 5 ลดลงเล็กน้อยจากปี 50 ที่ได้คะแนนเฉลี่ย 3.60 คะแนน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า ในปี 51 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากปัญหาเศรษฐกิจ รวมถึงราคาน้ำมันเชิ้อเพลิงที่สูงขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนของหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการด้านการขนส่งมีผลคะแนนลดลง
สำหรับหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 5 อันดับแรกที่ได้คะแนนสูงสุด คือ บมจ.ปตท.(PTT) ธนาคารออมสิน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)
ส่วน 5 อันดับ รัฐวิสาหกิจที่ได้คะแนนต่ำสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) สถาบันการบินพลเรือน องค์การสะพานปลา บริษัทอู่กรุงเทพ องค์การคลังสินค้า (อคส.)
หลักเกณฑ์ในการให้คะแนน ประกอบด้วย 3 หลักเกณฑ์ คือ การดำเนินงานตามนโยบาย 20% หลักเกณฑ์ผลการดำเนินงานด้านการเงินและที่ไม่ใช่ด้านการเงิน 50% และ การบริหารจัดการองค์กร 30%