In Focusเจแปน แอร์ไลน์ส ผลพวงล่าสุดจากพิษวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังแรงข้ามปี

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 13, 2010 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เจแปน แอร์ไลน์ส (JAL) หนึ่งในสายการบินยักษ์ใหญ่ของเอเชียคงต้องน้อมรับการตัดสินใจของแบงค์เจ้าหนี้และรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้การบริหารของพรรคประชาธิปไตยแห่งญี่ปุ่น (DPJ) ที่สนับสนุนให้มีการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลของนายยูคิโอะ ฮาโตยามะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรค DPJ เคยลั่นวาจาว่าจะไม่ยอมปล่อยให้ JAL ล้มละลาย แต่ล่าสุดดูเหมือนว่า สถานการณ์แวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย ทางเลือกในการยื่นล้มละลายจึงน่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย

เจแปน แอร์ไลน์ส ขาดทุนต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานถึง 3 ปี และยอดขาดทุนก็สะสมกันจนสูงถึง 1.31 แสนล้านเยนเมื่อช่วงครึ่งหลังของปี 2552 แม้ว่า JAL จะได้พยายามทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งลดจำนวนเที่ยวบินภายในและระหว่างประเทศลงเพื่อรับมือกับความต้องการเดินทางที่ซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย การปลดพนักงาน ลดเงินโบนัสและเงินบำนาญ ทางฝั่งรัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ด้วยการผลักดันให้แบงค์ใหญ่ปล่อยเงินกู้ช่วยเหลือมาหลายครั้ง แต่สถานการณ์โดยรวมก็ไม่ดีขึ้นแต่อย่างใด

จะว่าไป เจแปน แอร์ไลน์ส ก็มีชะตากรรมคล้ายๆกันกับค่ายรถบิ๊กทรีของสหรัฐที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักจนต้องล้มลุกคลุกคลาน ธุรกิจที่เคยเป็นดาวรุ่งจึงกลายเป็นดาวร่วงไปโดยปริยาย ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐได้ยื่นมือช่วยเหลือค่ายรถของตน รัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งมีภาระหนักหน่วงในการฉุดรั้งและผลักดันเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน กว่าจะฟื้นตัวขึ้นมาได้ก็แทบแย่ แถมรัฐบาลก็ยังเป็นรัฐบาลหน้าใหม่ แต่ก็จำเป็นต้องแสดงบทบาทในการเป็นด่านหน้าช่วยพยุงสายการบินชั้นนำของประเทศเช่นกัน โดยถึงเวลาแล้วที่ JAL ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ป่วยหนักที่เข้ารับการรักษาในห้องไอซียูมาเป็นเวลานาน จะถูกเข็นเข้าห้องผ่าตัดเพื่อต่อเวลาและยื้อธุรกิจเอาไว้ จนกว่าจะหายดีและแข็งแรงจนสามารถกลับมาผงาดเป็นเจ้ายุทธจักรได้อีกครั้ง

แบงค์เจ้าหนี้ไฟเขียวฟื้นฟูกิจการ

เดเวลล็อปเมนท์ แบงค์ ออฟ เจแปน ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของบริษัท เจแปน แอร์ไลน์ส คอร์ป เจ้าของสายการบินเจแปน แอร์ไลน์ส ได้สนับสนุนให้สายการบินยื่นพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลายเป็นรายแรกในบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหมด เนื่องจากเจ้าหนี้รายใหญ่รายนี้มองว่า การยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์กับทางศาล จะทำให้ JAL สามารถตกลงกับกลุ่มผู้ถือหุ้นและสหภาพแรงงานในประเด็นต่างๆได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสายการบิน

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ที่เป็นเจ้าหนี้ของ JAL เช่นกัน อย่างมิซูโฮ คอร์ปอเรท แบงค์, แบงค์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ และซูมิโตโม มิตซุย แบงกิ้ง คอร์ป กลับสนับสนุนแนวทางการฟื้นฟูกิจการโดยไม่ยื่นล้มละลาย เพราะธนาคารเหล่านี้เกรงว่า จะขาดทุนจากการถือหุ้น JAL และกังวลว่า กระบวนการล้มละลายจะทำให้สายการบินสูญเสียลูกค้าที่จะมาใช้บริการไป

แต่ท้ายที่สุด แบงค์พาณิชย์ทั้ง 3 รายก็ไฟเขียวแผนการฟื้นฟูกิจการผ่านกระบวนการศาล ซึ่งเกี่ยวพันกับการยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากการล้มละลายไปเมื่อวานนี้ หลังจากที่นายเซอิจิ มาเอฮาระ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมญี่ปุ่นได้เชิญมาประชุมร่วมกัน นอกจากนี้ แบงค์เจ้าหนี้ทั้ง 3 รายยังได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ JAL ต่อไป เพื่อฟื้นฟูกิจการ

ทางด้านสายการบินเองก็ประสบความสำเร็จในการขอเสียงสนับสนุนจากพนักงานที่เกษียณอายุไปแล้วในเรื่องการลดบำนาญลงทันเส้นตายเมื่อวานนี้พอดิบพอดี

พนักงานที่เกษียณแล้วของ JAL จำนวน 67% ได้ให้การอนุมัติแผนการลดบำนาญมากกว่า 30% ตามสัดส่วนที่จะต้องได้รับการอนุมัติจากพนักงาน 2 ใน 3 ส่วน จากพนักงาน 9,000 คน เพื่อที่สายการบินจะได้มีคุณสมบัติที่เพียงพอในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสาธารณะ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ออกมาเรียกร้องก่อนหน้านี้ให้พนักงานที่เกษียณแล้วของเจแปน แอร์ไลน์ส คอร์ป มีส่วนร่วมในการแสดงความรับผิดชอบและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแผนการลดบำนาญลง

นายฮาโตยามะกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า พนักงานที่เกษียณแล้วเป็นห่วงเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองหากบำนาญของตนเองถูกปรับลดลงเป็นจำนวนมาก แต่ถ้าเราพูดถึงเรื่องผู้ที่รับผิดชอบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของสายการบินแล้ว เชื่อว่าพนักงานทั้งหมดควรจะมีส่วนรับผิดชอบด้วยเช่นกัน

ด้านรัฐมนตรีคมนาคมของญี่ปุ่นก็ออกมารับประกันว่า รัฐบาลจะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยเหลือเจแปน แอร์ไลน์ส พร้อมกับย้ำว่าจะไม่ทำให้การดำเนินงานของบริษัทต้องหยุดชะงักในระหว่างที่บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มอบหมายให้ Enterprise Turnaround Initiative Corp. of Japan หรือ ETIC เข้ามาดูแลเรื่องการช่วยเหลือ JAL ซึ่งทาง ETIC เองก็วางแผนที่จะยุบกองทุนบำนาญของสายการบินลง หากสายการบินไม่สามารถเจรจาเพื่อลดผลประโยชน์บำนาญลงได้

การที่ธนาคารเจ้าหนี้อนุมัติในหลักการเพื่อให้สายการบินยื่นขอล้มละลายนั้น เป็นเรื่องที่จำเป็นเพราะสายการบินจะต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลที่รัฐบาลรับประกัน ซึ่ง ETIC เท่านั้นที่จะจัดสรรมาใช้สำหรับการฟื้นกิจการได้

ETIC วางแผนที่จะจัดการประชุมในวันนี้ และเล็งแต่งตั้งนายคาซูโอะ อินาโมริ ประธานกิตติมศักดิ์ของเคียวเซร่ามาทำหน้าที่ซีอีโอของ JAL ในช่วงที่บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ล่าสุดมีข่าวออกมาว่า ETIC กำลังพิจารณาเพื่อเสนอให้มีการจัดตั้งสายการบินต้นทุนต่ำขึ้นมาในช่วงที่ JAL ฟื้นฟูกิจการ

สายการบินสหรัฐรุมจีบ หวังดึงเข้าเป็นพันธมิตร

แม้ว่า กิจการของ JAL จะย่ำแย่ แต่สายการบินของสหรัฐต่างก็ยื่นมือมาช่วยเหลือ ด้วยความหวังที่จะมีเอี่ยวในเส้นทางบินที่สามารถทำกำไรได้มหาศาล หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐได้ตกลงที่จะเปิดเสรีตลาดการบินพลเรือนอย่างเต็มที่ภายใต้การจัดการให้มีการเปิดน่านฟ้า นับเป็นการทำข้อตกลงเปิดเสรีการบินอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกที่ครอบคลุมสนามบินขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นอย่างนาริตะและฮาเนดะ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวคาดว่า จะทำให้การแข่งขันดุเดือดมากยิ่งขึ้นระหว่างเดลต้า แอร์ ไลน์ส และอเมริกัน แอร์ไลน์ส ซึ่งพยายามที่จะเข้ามาช่วยเหลือเจแปน แอร์ไลน์ส

ข้อตกลงดังกล่าวจะทำให้สายการบินมีอิสระในเส้นทางการบินระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นมากขึ้น รวมทั้งลดอุปสรรคในเรื่องการกำหนดราคาตั๋วและการจำหน่ายตั๋วร่วมกัน

อเมริกัน แอร์ไลน์ อิงค์ และทีพีจี อิงค์ กลุ่มการลงทุนชั้นนำของสหรัฐ ประกาศยืนยันความพร้อมที่จะเข้าลงทุนในเจแปน แอร์ไลน์ คอร์ป โดยอเมริกัน แอร์ไลน์ ซึ่งเป็นสายการบินรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ กำลังใช้ความพยายามที่จะรั้ง JAL ให้เป็นสมาชิกในกลุ่มพันธมิตรการบิน oneworld ต่อไป ขณะที่มีรายงานว่า เดลต้า แอร์ ไลน์ อิงค์ สายการบินคู่แข่งรายใหญ่กว่าในสหรัฐ เตรียมที่จะเสนอเงินทุน 1 พันล้านดอลลาร์และการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับ JAL เพื่อจูงใจให้ JAL เปลี่ยนไปเป็นสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร SkyTeam ที่เดลต้าเป็นแกนนำอยู่

ล่าสุด อเมริกัน แอร์ไลน์ส ออกมาระบุว่า อาจจะลดเที่ยวบินไปยังญี่ปุ่น หาก JAL ซึ่งเป็นคู่ค้าทางธุรกิจการบิน หันไปเป็นพันธมิตรกับสายการบินเดลต้า แอร์ไลน์ส

วิล ริส รองประธานบริษัท เอเอ็มอาร์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของอเมริกัน แอร์ไลน์ส กล่าวว่า "เป็นเรื่องยากที่อเมริกัน แอร์ไลน์ส จะดำเนินธุรกิจการบินต่อไปโดยไม่มี JAL เพราะการดำเนินธุรกิจโดยไม่มี JAL ก็เท่ากับว่าอเมริกัน แอร์ไลนส์ ไม่สามารถเปิดเที่ยวบินระหว่างญี่ปุ่นและเอเชียได้ ซึ่งจะทำให้ฐานลูกค้าของเราลดน้อยลง"

งานนี้ เรียกได้ว่าเกมการยื่นข้อเสนอเป็นพันธมิตรกับ JAL จากฝั่งสายการบินสหรัฐจึงเป็นอีกเรื่องที่น่าจับตา เพราะต่างก็มีเป้าหมายที่จะทำให้ข้อตกลงเปิดน่านฟ้าระหว่างสหรัฐและญี่ปุ่นกลายเป็นรูปธรรม

การฟื้นฟูกิจการครั้งนี้แน่นอนว่า จะช่วยให้เจแปน แอร์ไลน์ส กลับมาลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ