นายดุสิต นนทะนาคร ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า มีความหนักใจต่อการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) หลังการรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าหรือปี 2558 ซึ่งเหตุที่ SMEs ยังไม่เริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันในอนาคตที่จะรุนแรงขึ้น เพราะยังไม่มีความเข้าใจต่อการเป็น AEC ขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น เครือซีเมนต์ไทย, บมจ.ปตท.(PTT) ได้ปรับตัวเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นแล้ว
ดังนั้นสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงจัดตั้งศูนย์ AEC Promt ขึ้นเพื่อจะเป็นศูนย์กลางการให้ความรู้ และแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการทุกคน
"อีก 5 ปีข้างหน้า สภาพตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ที่เคยเด่นในประเทศจะไม่เก่งที่สุดในภูมิภาค เพราะมีธุรกิจที่เก่งกว่าตัวเอง ตอนนี้เป็นทางสองแพร่งที่จะต้องเลือก ถ้าจะแข่งขันต้องรู้ว่ามีความอ่อนแอตรงไหนก็ต้องหาพาร์ทเนอร์มาพัฒนาร่วมกัน นายดุสิตกล่าวในการสัมมนา "โอกาสทางการค้า บริการ และการลงทุนของผู้ประกอบการ SMEs กับการเป็น AEC : ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน"นายดุสิต กล่าว
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนการค้าบริการอาเซียน กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ตามเป้าหมายการผูกพันสาขาบริการในแต่ละรอบกำหนดให้ปี 2558 มีทั้งหมด 127 สาขาที่จะต้องเปิดเสรีให้อาเซียนเข้ามาลงทุนได้ 70% ครอบคลุมเกือบทุกกลุ่มสินค้าบริการ ซึ่งอาเซียนทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ แม้จะเปิดเสรีมากขึ้นแต่ในทางปฎิบัติแล้ว สิทธิการควบคุมดูแลธุรกิจของไทยยังดำเนินการได้เหมือนเดิมและบริษัทต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยจะต้องปฏิบัติกฎระเบียบต่างๆ แบบเดียวกับที่บริษัทในประเทศปฎิบัติด้วย ส่วนการลงทุนภาคที่ไม่ใช่บริการ ได้แก่ เกษตร, ประมง, ป่าไม้, เหมืองแร่, ภาคการผลิต(อุตสาหกรรม)นั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนต้องหารือกันอีกครั้งว่าจะมีแผนเปิดเสรีอย่างไรเพราะสาขาดังกล่าวมีผลกระทบต่อไทยค่อนข้างมาก