นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้วางมาตรการป้องกันการนำเข้าข้าวที่อาจมีผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน เช่น การกำหนดคุณสมบัติของผู้นำเข้า และมีการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า กำหนดชนิดข้าวที่จะอนุญาตให้นำเข้า เช่น ให้นำเข้าเฉพาะปลายข้าวที่เป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเท่านั้น กำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าวที่เป็นมาตรฐานเดียวกับที่บังคับใช้ภายในประเทศ และกำหนดเงื่อนไขปลอด GMO เป็นต้น
เนื่องจากการเปิดเสรีทางการค้าภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ทำให้สินค้าเกือบทุกชนิดรวมทั้งสินค้าเกษตร 23 รายการที่เคยมีมาตรการด้านปกป้องภาษี ต้องลดภาษีให้เหลือ 0% ยกเว้น กาแฟ มันฝรั่ง เนื้อมะพร้าวแห้ง และไม้ตัดดอก ซึ่งจะคงภาษีไว้ที่ 5% โดยสิ่งที่หลายคนเป็นห่วงมากในขณะนี้คือ สินค้าข้าวของไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับเกษตรกรผู้ปลูกจำนวนมากประมาณ 3.7 ล้านครอบครัว ทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาท อาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าสินค้าอื่น เพราะต้นทุนการผลิตของไทยยังคงสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แม้ว่าคุณภาพของผลผลิตของเราจะสูงกว่าก็ตาม ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคอาจให้ความสำคัญด้านราคามากกว่าด้านคุณภาพ ซึ่งเบื้องต้นกระทรวงเกษตรฯ
นายธีระ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สำหรับอีกมาตรการหนึ่งที่สำคัญคือการจัดตั้งกองทุนเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น กองทุน เอฟ ที เอ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรฯ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ได้อนุมัติเงินให้การสนับสนุนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว 7 สินค้า ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร กระเทียม ปาล์มน้ำมัน ชาและกาแฟ จำนวน 12 โครงการ คิดเป็นงบประมาณจำนวน 346.64 ล้านบาท
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ คงต้องเร่งสร้างความเข้าใจและชี้แจงให้เกษตรกรหรือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าทุกชนิดได้รับทราบแนวทางการช่วยเหลือของกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตสินค้า ซึ่งมีพันธกรณีต้องลดภาษีและโควตา 23 รายการ รองรับการเปิดตลาดการค้าเสรีอาเซียน อาทิ สินค้าข้าว ซึ่งมีเกษตรกรผู้ผลิตถึง 3.7 ล้านครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การปรับตัวควบคู่กับมาตรการบริหารการนำเข้า ณ ด่านศุลกากรที่รัฐได้กำหนดขึ้นเพื่อปกป้องการนำเข้าอีกทางหนึ่ง
ส่วนสินค้าชนิดอื่นนั้น กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้วางมาตรการรองรับผลกระทบในทุกรายสินค้าเช่นกัน เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น พัฒนาระบบชลประทาน ปรับปรุง/ฟื้นฟู/อนุรักษ์ดิน เป็น การสร้างระบบมาตรฐานและตรวจสอบรับรองสินค้า การประกันรายได้ขั้นต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงในด้านราคา การจัดทำมาตรการป้องกันการนำเข้า ที่ไม่ขัดกับข้อตกลงทางการค้า เป็นต้น
"ข้อมูลการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับอาเซียน พบว่า ในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปยังอาเซียนจำนวนประมาณ 146,000 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากอาเซียนมีเพียงประมาณ 44,400 ล้านบาท ไทยได้เปรียบดุลการค้าคิดเป็นมูลค่าประมาณ 102,000 ล้านบาท ในภาพรวมจึงถือว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์มากกว่า ในการเปิดเสรีการค้าไทยอาเซียน เนื่องจากไทยมีศักยภาพการผลิตสูงกว่าประเทศในอาเซียน โดยคาดว่าผลจากการที่อาเซียนจะลดภาษีเป็น 0% ทำให้ GDP ของไทยในปี 2558 เพิ่มขึ้น 1.75% หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 204,000 ล้านบาท" นายธีระ กล่าว