"ชูเกียรติ"เชื่อปี 53 โอกาสทองส่งออกข้าวไทย ลุ้นอินเดียออกจากตลาด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 15, 2010 10:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เชื่อว่า มีความเป็นไปได้ที่ราคาส่งออกข้าวของไทยจะไปแตะที่ 600 เหรียญ สรอ./ตัน หรือคิดเป็นประมาณ 2 หมื่นบาท/ตัน เนื่องจากขณะนี้ราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 580 เหรียญ สรอ./ตันแล้ว ตามความต้องการที่สูงขึ้น เพราะช่วงเดือน ก.พ.น่าจะเริ่มมีคำสั่งซื้อจากแอฟริกาเข้ามา นอกจากนี้ หากทางอินเดียยังห้ามส่งออกข้าวในปีนี้ ไทยก็จะได้เปรียบเพราะไม่มีคู่แข่งในตลาดข้าวนึ่ง

"ครึ่งเดือนแรกของเดือนมกราคม ก็ยังไม่มีการซื้อขายอะไรกันมากมายนัก แต่ว่าเดือนกุมภาพันธ์น่าจะเริ่มแอคทีฟขึ้น เพราะแอฟริกาน่าจะเริ่มสั่งซื้อข้าวนึ่ง ช่วงนี้จะแอคทีฟเฉพาะข้าวหอมที่ลูกค้าจะซื้อไป ถึงตอนนั้นถ้ายังเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร ความต้องการยังสูงต่อไปแบบนี้ โอกาสราคาส่งออกข้าวขยับขึ้นไป 600 เหรียญสหรัฐ/ตัน ได้เห็นแน่นอน"นายชูเกียรติ กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

พร้อมยืนยันว่า ปีนี้น่าจะเป็นปีที่เป็นโอกาสทองของไทยในการส่งออกข้าว แม้จะไม่ดีเหมือนปี 51 ที่สามารถส่งออกข้าวได้ถึง 10 ล้านตัน เนื่องจากหลายประเทศที่เป็นประเทศผู้ผลิตข้าวและเป็นคู่แข่งของไทยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ไทยในฐานะผู้ผลิตและส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกอยู่ในฐานะที่ค่อนข้างได้เปรียบในตลาดส่งออก

นายชูเกียรติ คาดว่า ปีนี้ไทยน่าจะส่งออกข้าวได้ประมาณ 9 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 8.5 ล้านตันในปี 52 ซึ่งแบ่งเป็น ข้าวนึ่งประมาณ 3 ล้านตัน ข้าวขาว ประมาณ 2 ล้านตันเศษ ข้าวหอมมะลิ ประมาณ 2 ล้านตัน ที่เหลือเป็นข้าวเหนียว และข้าวชนิดอื่นๆ

"ผมว่าการส่งออกข้าวไทยยังอยู่ในทิศทางที่ดีมากกว่าไม่ดี น่าจะส่งออกได้มากกว่าปีที่แล้ว แล้วก็ต้องดูเรื่องดินฟ้าอากาศที่ว่าจะเกิดเอลนินโญ่ จะมีผลกระทบขนาดไหนด้วย"นายชูเกียรติ กล่าว

สำหรับปัจจัยที่จะเป็นตัวแปรต่อการส่งออกข้าวไทยที่สำคัญ คือ ข่าวอินเดียจะตัดสินใจเลิกส่งออกหรือส่งออกข้าวลดลง และยุติการนำเข้าข้าวหลังสต็อกข้าวสหรัฐในโกดังของรัฐบาลอินเดียเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในวันที่ 1 ม.ค.53 ว่าจะเป็นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ อินเดียเป็นประเทศที่ผู้ส่งออกข้าวนึ่งที่สำคัญ โดยในปี 50 ส่งออก 6.3 ล้านตัน แต่พอปี 51 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติอาหารโลก อินเดียวได้ประกาศงดส่งออกแต่ก็ยังส่งออกได้ประมาณ 3 ล้านตันเศษ พอมาปี 52 ส่งออกข้าวบาสมาติ แค่ 2 ล้านตัน ส่วนปีนี้คงส่งออกได้ไม่เท่าปีที่แล้ว ขณะที่ข้าวที่บริโภคกันในประเทศอินเดียเป็นหลักคือข้าวขาว ซึ่งนำเข้ามาจากทั้งเวียดนามและไทย

"ถ้าอินเดียส่งออกไม่ได้แน่ เราน่าจะได้รับประโยชน์จากตลาดข้าวนึ่งที่หายไปของอินเดีย"นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าว

ด้านฟิลิปปินส์เป็นที่แน่นอนแล้วว่าปีนี้คงจะไม่มีการนำเข้าแน่นอนแล้วหลังจากเพิ่งซื้อข้าวไปเต็มที่ เพราะจะมีการเลือกตั้งภายในประเทศเกิดขึ้น

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัจจัยเสี่ยง คือ อัตราแลกเปลี่ยน เห็นว่าไม่ควรปล่อยให้เงินบาทแข็งค่าจนเกินไป ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ถือว่าเหมาะสม อย่าให้แข็งค่าลงไปที่ 31-32 บาท/ดอลลาร์ เพราะยิ่งมีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนด้วยแล้ว เวียดนามลดค่าเงินดอง ข้าวไทยที่แพงกว่าชาวบ้านอยู่แล้วจะยิ่งทำการตลาดลำบากมากขึ้น

นอกจากนั้น ความเสี่ยงที่การส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญ คือ ผลผลิตข้าวจากประเทศผู้ผลิตรายใหม่ๆ เช่น พม่า และกัมพูชา ซึ่งแม้จะเป็นรองไทยเรื่องคุณภาพ แต่ก็มีความได้เปรียบเรื่องภูมิอากาศ และสภาพดิน รวมทั้งต้นทุนการผลิต ซึ่งตรงนี้ทำให้มีพ่อค้าชาวไทยหัวใสแอบลักลอบนำเข้าข้าวจากพม่าและกัมพูชาเข้ามาตามแนวชายแดน เพื่อสวมสิทธิในโครงการรับจำนำ และไทยก็นำข้าวเหล่าไปส่งออกทำให้เกิดปัญหาความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพของข้าวไทยตามมา ซึ่งการที่ปกติข้าวไทยมีราคาแพงกว่าประเทศผู้ส่งออกอื่นๆอยู่แล้ว พอมามีปัญหาเรื่องข้าวปลอมปนยิ่งกดดันการทำตลาดเข้าไปอีก

ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องอาศัยภาครัฐออกกฎหมายหรือบทลงโทษที่เข้มงวด โดยเฉพาะกับคนไทยที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวเพียงเล็กน้อย ทำลายชื่อเสียงข้าวไทยที่ถูกส่งออกไปยังทั่วโลก

นายชูเกียรติ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามไทยมีความได้เปรียบประเทศเหล่านี้ในเรื่องความทันสมัยและศักยภาพในการส่งออกข้าว โลจิสติกส์ เราดีกว่ามาก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ