นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำยุทธศาสตร์การค้าของประเทศเป็นครั้งแรกซึ่งจะเริ่มใช้ในปี 53 โดยมีเป้าหมายในการปรับโครงสร้างการค้าให้เศรษฐกิจเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืนจากที่เศรษฐกิจเติบโตจากการพึ่งพาภายนอกมาเป็นการเติบโตจากฐานภายใน ทั้งนี้เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศมีความมั่นคงแข็งแรงและไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจากภายนอก
ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าหมายที่จะปรับสัดส่วนการค้าในประเทศและการส่งออกต่อ GDP จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนอยู่ 30:70 มาเป็น 40:60 ภายใน 5 ปี และเพิ่มเป็น 50:50 ในอนาคต
"เราจะปรับโครงสร้างการค้าให้เศรษฐกิจในประเทศมีความมั่นคง จากปัจจุบันที่พึ่งพาการส่งออกมาก มาเป็นการสร้างฐานภายในให้แข็งแกร่ง เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤติเศรษฐกิจภายนอก โดยจะปรับจาก 30:70 มาเป็น 40:60 ภายใน 5 ปี" รมว.พาณิชย์ กล่าว
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจการค้าไทยในปี 53 จะเน้นการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืน โดยมียุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอย่างชัดเจน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความพร้อมของกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ ทั้งตัวสินค้า ช่องทางการค้า ตัวผู้ประกอบการ คือ ทั้งการปรับโครงสร้างและเพิ่มผลิตภาพการผลิต การขยายช่องทางการตลาดในและนอกประเทศให้มากขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของผู้ประกอบการในทุกระดับ
ทั้งนี้ ภายใต้ยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ จะเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตและการค้า โดยจะให้ความสำคัญแก่สินค้าหรือ sector ที่เป็นรากฐานทางเศรษฐกิจที่ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตรที่เกี่ยวข้องกับประชากรกว่า 20 ล้านคน เช่น สินค้าเกษตร, เกษตรแปรรูป, อาหาร, เกษตรอุตสาหกรรม, อุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ใช่อาหาร เช่น พลังงาน รวมทั้งอุตสาหกรรมที่ใช้ Local Contents ทั้งวัตถุดิบ, แรงงาน, ภูมิปัญญาสูง และธุรกิจบริการที่ไทยมีศักยภาพสูงและสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้
นางพรทิวา ยังกล่าวว่า จากแนวโน้มที่ตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศหลายตัวเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการส่งออก, อัตราเงินเฟ้อ, การลงทุนของภาคเอกชน, การใช้จ่ายของผู้บริโภค ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในปีนี้น่าจะเติบโตได้ถึง 4% แม้หลายหน่วยงานจะประเมินว่า GDP ปีนี้จะเติบโตราว 3-3.5% ก็ตาม โดยกระทรวงพาณิชย์จะพยายามรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อปีนี้ให้อยู่ในระดับ 3-3.5% เทียบเท่ากับการขยายตัวของ GDP ซึ่งเท่ากับอำนาจซื้อของประชาชนไม่ได้ลดลง รวมทั้งจะดูแลให้การส่งออกทั้งปีนี้เติบโตได้ในระดับ 10-15%
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มียุทธศาสตร์การค้าของประเทศอย่างครบวงจร โดยจะเน้นการเติบโตจากภายในประเทศเป็นหลักและวางโครงสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหาจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สำหรับยุทธศาสตร์การค้าของประเทศ ประกอบด้วย 8 ด้านสำคัญ คือ 1.การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งต่อระบบและช่องทางการค้า ทั้งการค้าปลีก ค้าส่ง เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบการค้าทั้งประเทศที่มีมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท 2.การค้าชายแดน และการค้ากับประเทศอาเซียน โดยได้เตรียมจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อเป็นเครื่องมือบริหารจัดการในการเพิ่มปริมาณและมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และมาเลเซีย
3.การส่งออกที่เน้นสินค้า sector หลัก โดยแบ่งกลุ่มสินค้าตามศักยภาพและตั้ง Chief of Product เพื่อกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายให้การส่งออกปีนี้เติบโตได้ถึง 14% 4.การสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่ใช้ภูมิปัญญาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ตัวสินค้า รวมทั้งสนับสนุนการผลิต การค้า และการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเรื่องนี้ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญและนำไปเป็นเงื่อนไขทางการค้าระหว่างประเทศ 5.การสร้างองค์ประกอบทางการค้าที่เอื้ออำนวย เพื่อให้กลไกหลักดังกล่าวขับเคลื่อนได้ตามยุทธศาสตร์
6.ด้านสินค้าเกษตร โดยจะเดินหน้าโครงการประกันรายได้เกษตรกรให้ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันจะรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรควบคู่กันด้วย 7.ด้านโลจิสติกส์ ที่จะพัฒนาปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการสต็อก ยกระดับการให้บริการของผู้ให้บริการโลจิสติกส์และเชื่อมโยงระบบข้อมูลเพื่อสนับสนุนการกระจายสินค้า ปรับปรุงกฎระเบียบในการดำเนินธุรกิจส่งออกให้เทียบเท่าประเทศชั้นนำ และ 8.การกำกับดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการดำเนินโครงการธงฟ้า เพื่อช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ประชาชน