นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการตั้งศูนย์ AFTA Hotline 1385 ขึ้น ผลปรากฎว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วไปโทรศัพท์มาสอบถาม และติดต่อด้วยตนเองมากกว่า 461 ราย เฉลี่ยวันละ 65 ราย แยกเป็นกลุ่มอาชีพ คือ ผู้นำเข้า - ส่งออก ร้อยละ 70.0 ผู้ผลิต ร้อยละ 18.8 อื่น ๆ อาทิ นักวิชาการ นิสิต/นักศึกษา ร้อยละ 11.2
และแยกเป็นกลุ่มสินค้าดังนี้ กลุ่มสินค้าเกษตรภายใต้ AFTA, WTO มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 11.4, รองลงมาได้แก่ สินค้าข้าวร้อยละ 10.9 ปาล์ม น้ำมันปาล์ม ร้อยละ 5.7, น้ำตาล ร้อยละ 4.7, สินค้ากลุ่ม Sensitive list ร้อยละ 4.7, กาแฟ ร้อยละ 4.5, มันสำปะหลัง ร้อยละ 3.5 และอื่น ๆ ร้อยละ 54.6
สำหรับประเด็นที่สอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องอัตราภาษี ร้อยละ 40.6 กระบวนการนำเข้า — ส่งออก ร้อยละ 28.2 การออกหนังสือ/เอกสาร ร้อยละ 17.2 ข้อมูลการตลาด ร้อยละ 10.2 อื่น ๆ ร้อยละ 3.8 และประเมินความพอใจของผู้สอบถาม ร้อยละ 80 พอใจมากถึงมากที่สุด
ศูนย์ปฏิบัติการ AFTA Hotline 1385 เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 โดยปฏิบัติงานในลักษณะของศูนย์เบ็ดเสร็จครบวงจร ปฏิบัติงานทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ เริ่มตั้งแต่เวลา 08.30 — 16.30 น. แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มสายด่วนAFTA (Q & A Unit) ตอบคำถามและรับฟังปัญหา ข้อกังวลที่เกี่ยวข้องกับ AFTA และการเปิดตลาด กลุ่มติดตามและประเมินสถานการณ์ (Monitoring Unit) ติดตามสถานการณ์การนำเข้า — ส่งออก เพื่อแก้ไขปัญหาได้ทันกับเหตุการณ์ กลุ่มให้คำปรึกษาสัญจร (AFTA Mobile Unit) เป็นหน่วยเคลื่อนที่เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและให้คำปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้อง และกลุ่มมาตรการช่วยเหลือ (Remedy Unit) ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ตลอดจนการเยียวยาผลกระทบและใช้มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ