นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้วางมาตรการสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวนาไทยและระบบข้าวภายในประเทศ ทั้งการดำเนินการโดยภาครัฐเอง เช่น โครงการยกระดับการผลิตข้าวสารคุณภาพภายใต้ห่วงโซ่อุปทานเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและลดผลกระทบการเปิดการค้าเสรีอาเซียน และการจัดตั้งศูนย์ข้าวชุมชนโดยมีเป้าหมายทั้งประเทศ 7,000 ศูนย์ ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งแล้ว 4,000 ศูนย์เพื่อเป็นการยกระดับผลผลิตข้าวและปรับปรุงคุณภาพข้าวให้สูงขึ้น รวมทั้งลดต้นทุนการผลิตข้าวให้กับเกษตรสามารถแข่งขันได้
สำหรับเกษตรกรต้องมีการปรับตัวเช่นกันในด้านการผลิต เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ปฏิบัติตามระบบจีเอพี เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีที่เหมาะสมให้ผลผลิตสูง เป็นต้น
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ยังมีมาตรการที่ได้วางแนวทางเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสินค้าข้าว ได้แก่ การกำหนดมาตรการสุขอนามัยที่เข้มงวด เป็นการกำหนดห้ามไม่ให้มีโรค แมลง วัชพืช และสิ่งเจือปนต้องห้ามเข้าประเทศ การกำหนดข้าวนำเข้าต้องเป็นข้าวที่ไม่ใช่ GMOs เป็นต้น “โครงการศูนย์ข้างชุมชน ซึ่งมีประโยชน์กับเกษตรกรยากมากแต่ได้รับงบประมาณน้อยมาก และขาดเครื่องมือในการดำเนินงานเมล็ดพันธุ์แล้วไม่เพียงพอที่จะนำไปปลูกเช่น เมล็ดพันธุ์ขยาย บางจังหวัดมีความพร้อมแต่ไม่ได้อยู่ในแผน รวมทั้งเกษตรกรเห็นว่ารัฐควรสนับสนุนเรื่องลานตาก ยุ้งฉางในการเก็บเมล็ดพันธุ์"นายธีระ กล่าว
สำหรับสถานภาพกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณตั้งแต่ปี 2549 - 2552 รวมเป็นเงิน 540 ล้านบาท ขณะนี้กองทุนฯ ได้อนุมัติเงินให้การสนับสนุนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าไปแล้ว 7 รายสินค้า ได้แก่ โคเนื้อ โคนม สุกร กระเทียม ปาล์มน้ำมัน ชาและกาแฟ จำนวน 12 โครงการ คิดเป็นงบประมาณจำนวน 346.64 ล้านบาท จึงมีงบประมาณเหลือทั้งสิ้นรวม 273 ล้านบาท ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯจะได้นำข้อเสนอดังกล่าวเพื่อพิจารณาขออนุมัติงบประมาณในการดำเนินการ เพื่อเป็นมาตรการที่จะเพิ่มความเข้มแข็งให้เกษตรกรไทยและบรรเทาผลกระทบจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียนที่จะมีต่อเกษตรกรไทยในอนาคต