นายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) คนใหม่ ยืนยันเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อกระจายประเภทเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและช่วยลดภาวะโลกร้อน
สำหรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) นั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรปรับตามภาวะเศรษฐกิจเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หรืออาจมีการจัดตั้งกองทุนเข้ามาดูแลเรื่องนี้เหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดูแลเรื่องราคาแอลพีจี เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งส่งผลทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงขยับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะเห็นต้นทุนที่ชัดเจนในเดือน เม.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ขณะที่รัฐบาลมีนโยบายตรึงค่าไฟฟ้าจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.53 ซึ่งล่าสุด กฟผ.ต้องมีภาระแบกรับค่าเอฟทีแทนประชาชนอยู่ประมาณ 15,900 ล้านบาท และยังมีภาระต้นทุนดอกเบี้ยประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของ กฟผ.ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในอนาคตเพิ่มขึ้นไปด้วย