ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดตลาดก่อสร้างปี 53 ขยายตัวตามศก.คาดมูลค่าลงทุน 8 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2010 16:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐในปี 53 นี้ อาจมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณ 3.5-8.0% ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนอาจขยายตัว 2.5-5.0% ส่งผลให้มูลค่าการลงทุนด้านการก่อสร้างโดยรวม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวประมาณ 3.0-6.5% สำหรับมูลค่าตลาดการก่อสร้าง เนื่องจากต้นทุนค่าก่อสร้างมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปี 53 ทำให้มูลค่าการลงทุนด้านก่อสร้าง ณ ราคาปีปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 819,000-847,000 ล้านบาท หรือเติบโต 10.0-14.0%

ส่วนภาพรวมการลงทุนในธุรกิจก่อสร้างในปี 52 ที่ผ่านมา มูลค่า ณ ราคาคงที่ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนปริมาณกิจกรรมด้านการก่อสร้างน่าจะค่อนข้างใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยอาจมีอัตราการขยายตัว 1.2% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการก่อสร้างภาครัฐเป็นสำคัญ แต่จากภาวะราคาวัสดุและต้นทุนการก่อสร้างที่ลดลง คาดว่าจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนในด้านก่อสร้าง (ราคาปีปัจจุบัน) อยู่ที่ 743,400 ล้านบาท ลดลง 5.5% เทียบกับ 786,634 ล้านบาทในปีก่อนหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มาถึงในปีนี้แนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างภาคเอกชนมีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงมาตรการและกฎหมายบางด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์บ้านบีโอไอ และการแก้ไข พ.ร.บ. การประกอบกิจการค้าปลีกค้าส่ง

การก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัย น่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นทุกๆ กลุ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามสภาวะเศรษฐกิจที่มีสัญญาณการฟื้นตัวเป็นลำดับ อีกทั้งการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงไตรมาส 1/53 เพื่อใช้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 มี.ค.53

นอกจากนี้ การก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงจะได้รับปัจจัยบวกจากการปรับเงื่อนไขของโครงการบ้านบีโอไอ ซึ่งลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษี ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาโครงการให้สอดคล้องกับต้นทุนและความต้องการของตลาดในปัจจุบัน จึงคาดว่าจะให้มีการแข่งขันในตลาดที่อยู่อาศัยราคาระดับกลางและล่างมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ บีโอไอได้ปรับหลักเกณฑ์เฉพาะในพื้นที่เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (พื้นที่เขต 1) สำหรับกรณีการก่อสร้างอาคารชุด และบ้านแถวหรือบ้านเดียว จะต้องมีราคาจำหน่ายไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 1.2 ล้านบาทต่อหน่วย (รวมค่าที่ดิน) จากเดิมราคาไม่เกิน 6 แสนบาท จึงอาจทำให้ผู้ประกอบการหันมาน้ำหนักในการพัฒนาโครงการแนวราบมากขึ้น

ส่วนการก่อสร้างประเภทพาณิชยกรรม ปี 53 มีทิศทางที่ดีขึ้นเห็นได้จากความเคลื่อนไหวและการลงทุนขยายสาขาของธุรกิจค้าปลีกตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 52 โดยเน้นไปที่รูปแบบร้านค้าขนาดเล็ก และคอมมูนิตี้มอลล์ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่ฟื้นตัว อีกทั้งการรุกขยายสาขารูปแบบดิสเคานท์สโตร์ที่มีขนาดเล็กลงในหลายรูปแบบขึ้นเพื่อให้สอดรับกับการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ

แต่การก่อสร้างประเภทอุตสาหกรรม และอื่นๆ อาจยังชะลอตัวต่อไป เนื่องจากระดับการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัวดี และกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงสูงอยู่ จึงยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องขยายการลงทุน รวมทั้งนักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่บางภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหากฎเกณฑ์ และกฎระเบียบของภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงและขาดความชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นเรื่อง ปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน ซึ่งจะส่งผลกระทบให้ระงับการก่อสร้างโครงการที่กำลังดำเนินอยู่ และการลงทุนใหม่ๆ

ส่วนการลงทุนภาครัฐในปี 53 ถูกคาดหวังให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการก่อสร้างโดยรวม จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งจะผลักดันการก่อสร้างภาคเอกชนให้เติบโตได้ต่อไป โดยคาดว่าโครงการลงทุนขนาดเล็กภายใต้ SP2 ที่พร้อมที่จะดำเนินการจะยังเป็นปัจจัยผลักดันธุรกิจก่อสร้างช่วงต้นปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการขนาดเล็กที่กระจายไปทั่วประเทศ เช่น โครงการบริหารจัดการ จัดหาแหล่งน้ำ และโครงการถนนไร้ฝุ่น จึงน่าจะส่งผลบวกต่อผู้รับเหมารายย่อยทั่วประเทศ ส่วนโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่นั้นกว่าที่จะเริ่มต้นได้อย่างเร็วน่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปี 53 เนื่องจากจะต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ อีก ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนรูปแบบราง คาดว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ จะสามารถเริ่มต้นก่อสร้างได้ก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมธุรกิจก่อสร้างในปี 53 น่าจะกลับมาขยายตัวค่อนข้างดี จากปัจจัยหนุนต่างๆ แต่ธรุกิจก่อสร้างยังคงต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ได้แก่ ปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง รวมทั้งการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ อีกทั้งความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ อาจต้องเผชิญกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งการแย่งชิงทรัพยากรสำหรับก่อสร้างโครงการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นด้วย

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาหลักเกณฑ์ และกฎระเบียบของภาครัฐที่ขาดความชัดเจนในประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ส่วนการกำหนดประเภทกิจการที่ดำเนินกิจการหรือกิจกรรมที่อาจส่งผลร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพและชุมชน อาจครอบคลุมไปถึงโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานบางสาขา จึงอาจส่งผลให้การลงทุนของรัฐบางประเภทล่าช้าออกไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ