ศูนยวิจัยกสิกรฯคาดปี 53 แบงก์พาณิชย์แข่งดุ ทั้งระบบคาดสินเชื่อโต 6-7%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 18, 2010 17:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ความท้าทายในการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ไทยในปี 53 แตกต่างไปจากเดิม โดยการแข่งขันในตลาดสินเชื่อคงจะทวีความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีและลูกค้ารายย่อย โดยคาดว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้น่าจะขยายตัว6.0-7.0% สูงกว่าปี 52 ที่สินเชื่อมีโอกาสทรงตัว หรือหดตัวเล็กน้อย อีกทั้งเป็นอัตราที่สูงกว่าการคาดการณ์เดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ประมาณ 4.2%

แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 53 ได้ก้าวเข้าสู่เส้นทางการฟื้นตัวแล้วด้วยอัตราการเติบโตที่คาดว่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 2.5-3.5% แม้ว่าการฟื้นตัวดังกล่าวอาจไม่ได้ปรากฏขึ้นอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ส่งผลให้การเติบโตของเศรษฐกิจในภาพรวมอาจยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ประมาณ 4.0-5.0%

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวคาดว่าจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนน่าจะมีความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น โดยจะพบว่าการตั้งเป้าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ในระดับที่สูงกว่า 5% ในปี 53 ทำให้คาดว่าการแข่งขันในบางกลุ่มลูกค้า หรือบางประเภทธุรกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่เด่นชัดกว่าประเภทธุรกิจอื่นๆ น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น

โดยสินเชื่อจำแนกตามกลุ่มลูกค้าที่น่าจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราค่อนข้างสูง ได้แก่ สินเชื่อรายย่อย ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่า 10% จากปีก่อน ตามผลบวกของการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภค รวมทั้ง เสถียรภาพด้านอาชีพและรายได้ที่สูงขึ้น กอปรกับ ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งคงช่วยหนุนรายได้เกษตรกร

ส่วนสินเชื่อธุรกิจ (รวมทั้งลูกค้าเอสเอ็มอีและรายใหญ่) น่าจะพลิกกลับมาอยู่ในแดนบวกได้เช่นกัน แต่ก็อาจไม่เกิน 5% โดยได้รับแรงสนับสนุนที่สำคัญ จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น อันส่งผลตามมาให้ภาคธุรกิจอาจมีความต้องการสินเชื่อประเภทเงินทุนหมุนเวียนระยะสั้น (Working Capital Loans) เพิ่มขึ้น รวมถึงแรงหนุนจากการฟื้นตัวของกิจกรรมในบางภาคธุรกิจ โดยเฉพาะที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ ภาคเกษตร และโครงการภาครัฐ

ขณะที่ แรงขับเคลื่อนหลักน่าจะยังคงมาจากลูกค้าเอสเอ็มอีมากกว่าลูกค้ารายใหญ่ เนื่องจากธุรกิจรายใหญ่หลายรายได้ระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ไปค่อนข้างมากแล้วในปี 52 ที่ผ่านมา อีกทั้งความต้องการเบิกใช้สินเชื่อยังเผชิญอุปสรรคจากปัญหาเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการระงับโครงการลงทุนในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและใบอนุญาต 3G

นอกจากนี้ ในปีนี้คาดว่าการแข่งขันด้านรายได้ค่าธรรมเนียมของระบบธนาคารพาณิชย์จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าจะเติบโตเร่งขึ้น 15% จากปี 52 ที่คาดว่าจะทำได้ 10.7% แรงส่งสำคัญมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อและบัตรเครดิต จากโครงสร้างรายได้ค่าธรรมเนียมในปัจจุบัน พึ่งพิงรายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อถึง 1 ใน 4 ของรายได้ค่าธรรมเนียมทั้งหมด

นอกจากนี้ แนวโน้มการค้าระหว่างประเทศที่สดใสขึ้น ก็น่าจะหนุนรายได้ค่าธรรมเนียมการออก L/C เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คึกคักขึ้น คาดว่าจะช่วยให้ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับบริการโอนเงิน เรียกเก็บเงิน และเช็ค ขยายตัวสูงขึ้น

แต่รายได้ค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุน เช่น รายได้จากบริการที่ปรึกษา และ/หรือนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์จากธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือ คงจะเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นค่อนข้างมาก ภายใต้แผนการเปิดเสรีรายได้ค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ที่ได้เริ่มใช้ระบบการคิดค่าธรรมเนียมแบบขั้นบันไดตั้งแต่ช่วงต้นปี 53

ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมดาวเด่นจากธุรกิจ Bancasurance นั้น แม้ว่าอาจสามารถรักษาการขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากในปี 52 ตามการรุกตลาดอย่างหนักจากธนาคารพาณิชย์ แต่ก็อาจมีกรอบเวลาการทำตลาดที่จำกัดกว่า โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยในระบบเริ่มก้าวเข้าสู่จังหวะขาขึ้นแล้ว

ส่วนปัญหาคุณภาพหนี้ของระบบธนาคารพาณิชย์ ยังคงต้องได้รับการดูแล เนื่องจากในปี 52 ธนาคารพาณิชย์ใช้กลยุทธ์เชิงรุกในการเข้าไปดูแลลูกค้าและธุรกิจลูกค้าในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ก่อนที่ลูกค้าดังกล่าวจะเริ่มผิดนัดชำระหนี้ ประกอบกับมีการปรับมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดขึ้นตามความเสี่ยงเครดิตของลูกค้าที่สูงขึ้น ทำให้ปัญหาเอ็นพีแอลในปี 52 อยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และไม่ได้เพิ่มขึ้นตามที่หลายฝ่ายเคยกังวลไว้

แต่การที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 53 เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอาจยังไม่กระจายตัวดีขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกภาคส่วน จึงอาจทำให้กิจการที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้หรือมีปัญหาการชำระคืนหนี้นั้น อาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว ซึ่งจะทำให้เอ็นพีแอลของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทันที โดยเฉพาะหากไม่มีการขายหนี้เสียออกไปจากระบบ

ขณะที่สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์คาดว่าจะปรับตัวลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูง โดยปริมาณสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ 2.1 ล้านล้านบาท ณ พ.ย.52 น่าจะสามารถรองรับการขยายสินเชื่อในปี 53 ที่คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 3.7-4.3 แสนล้านบาทได้ โดยที่ไม่จำเป็นจะต้องเร่งระดมเงินฝากเพิ่ม แต่ในทางปฏิบัติคาดว่าธนาคารพาณิชย์ไทยจะยังคงเดินหน้าออกแคมเปญเงินฝากพิเศษ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเงินฝากและชดเชยโครงการเดิมที่ครบกำหนด

นอกจากนี้อาจพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับทางเลือกในการออมอื่นๆ รวมถึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินที่ส่งผ่านผลกระทบของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งกลไกการปรับตัวต่างๆ ดังกล่าว อาจทำให้เงินฝากที่ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยขยายตัวเร่งขึ้น จนส่งผลตามมาให้สภาพคล่องปรับตัวลดลงในขนาดที่น้อยกว่าการขยายสินเชื่อ ท้ายที่สุดแล้ว ปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ก็ยังน่าจะยืนอยู่ในระดับที่ไม่หนีไปจาก 2 ล้านล้านบาท

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 53 แต่จะมากน้อยเพียงใดขึ้นกับจังหวะและขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินให้กู้ยืม โดยคาดการณ์ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจขยับขึ้นในกรอบประมาณ 8-13 จุดมาอยู่ในกรอบประมาณ 3.41-3.46% เทียบกับประมาณ 3.33% ในปี 52

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าหากธนาคารพาณิชย์ไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทและอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมรวม 0.75% ในช่วงครึ่งหลังของปี 53 จะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะขยับขึ้นมาที่ 3.50-3.55% แตหากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและเงินให้กู้ยืมเพียง 0.25% ในไตรมาส 4/53 ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยก็จะขยับขึ้นมาที่ประมาณ 3.43-3.48%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ