นักเศรษฐศาสตร์คาดส่งออก ธ.ค.ฟื้นต่อเนื่อง 19.5-22%, ปี 53 จับตาเงินบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 19, 2010 11:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักเศรษฐศาสตร์จากภาครัฐและเอกชน ประเมินมูลค่าส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.52 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และมีแนวโน้มเติบโตเป็นบวกได้ในปีนี้ โดยเห็นพ้องกันว่าการส่งออกปี 53 จะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก คาดมูลค่าจะเติบโตราว 10-15% ส่วนใหญ่ได้อานิสงค์จากราคาสินค้าเกษตรเป็นพระเอกหลัก แต่ยังแนะให้จับตาการแข็งค่าของเงินบาทที่เป็นปัจจัยแปรผันสำคัญ ขณะที่ทั้งปี 52 คาดว่าส่งออกติดลบในช่วง 13-14% ตามกรอบที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าไว้

              สถาบัน              มูลค่าการส่งออก ธ.ค.52     ทั้งปี 52          ทั้งปี 53
          สถาบันวิจัยนครหลวงไทย           22.0%             -13.0%           12.5%
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                19.5%             -14.6%           9-12%
          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง           -               -14.8%           15.5%
          มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย           20%              -14.0%           12.0%

นายกิตติพงศ์ กังวานเกียรติชัย นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยนครหลวงไทย(SCRI) ประเมินว่า การส่งออกในเดือน ธ.ค.52 ที่กระทรวงพาณิชย์จะประกาศอย่างเป็นทางการภายในวันนี้จะมีอัตราการเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 20% เนื่องจากเชื่อว่าการส่งออกยังคงเติบโตต่อเนื่องจากเดือน พ.ย.52 ที่ขยายตัวถึง 17.2% ซึ่งเป็นไปตามภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ ยังได้อานิสงค์จากสินค้าเกษตร ที่การส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 4/52 มีการปรับตัวดีขึ้นทั้งในแง่ของมูลค่าและปริมาณมาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการนำเข้าในเดือนธ.ค.52 ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 16% หลังจากที่ปริมาณสินค้าในสต็อกเริ่มลดลง จึงทำให้ผู้ประกอบการต้องสั่งนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเพื่อการส่งออกสำหรับปี 53 ดังนั้น จะส่งผลให้ในเดือนธ.ค.52 ไทยมียอดเกินดุลการค้าประมาณ 1,000-1,100 ล้านดอลลาร์

ขณะที่การส่งออกปี 52 คาดว่าจะติดลบราว 13% และมียอดเกินดุลการค้าประมาณ 19,600 ล้านดอลลาร์

SCRI ประเมินการส่งออกทั้งปี 53 ว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.5% โดยได้ปัจจัยบวกที่สำคัญจากราคาส่งออกสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นในตลาดโลก ส่วนการนำเข้าทั้งปี 53 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 25% เป็นผลจากปริมาณสต็อกสินค้าเริ่มลดลง ดังนั้นจึงต้องเร่งนำเข้ามากขึ้นเพื่อการผลิตและส่งออกสินค้าสำหรับทั้งปี ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นนี้จะส่งผลให้ดุลการค้าทั้งปี 53 ปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 5,000 ล้านดอลลาร์

ส่วนปัจจัยลบสำคัญในปีนี้ที่ต้องติดตาม คือ การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท เพราะหากเงินบาทแข็งค่าไปมากกว่า 32.50 บาท/ดอลลาร์ ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าสำคัญอันดับต้นๆ ของไทยได้ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และชิ้นส่วน, ยานยนต์, อัญมณีและเครื่องประดับ, แผงวงจรไฟฟ้า และน้ำมันสำเร็จรูป แต่ทั้งนี้ SCRI ยังมองว่าทั้งปีเงินบาทจะเฉลี่ยอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์

"ปัจจัยบวกของการส่งออกปีนี้ คือน่าจะเป็นปีทองของสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์...ส่วนปัจจัยลบที่ต้องจับตาคือ การแข็งค่าของเงินบาท หากหลุดไปกว่า 32.50 บาท/ดอลลาร์ ก็จะมีผลกระทบมากต่อการส่งออก" นายกิตติพงศ์ กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"

นางพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า การส่งออกในเดือนธ.ค.52 จะเติบโตราว 19.5% ที่มูลค่าประมาณ 13,800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งการส่งออกในเดือนนี้ดีขึ้นทั้งในแง่ของปริมาณและมูลค่า เนื่องจากหลายประเทศมีคำสั่งซื้อสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น เนื่องจากมองแนวโน้มว่าสินค้ากลุ่มดังกล่าวในปี 53 จะมีราคาปรับเพิ่มขึ้นได้อีก

"มีปัจจัยที่ทำให้การส่งออกเดือนธ.ค.มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพราะมีคำสั่งซื้อที่เข้ามามากขึ้นในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ที่เก็งกันว่าราคาจะเพิ่มขึ้นในปี 53 เช่น สินค้าเกษตร เหล็ก ทองแดงจึงทำให้รีบนำเข้าในช่วงที่ราคายังไม่สูง ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนต่อการส่งออกในเดือนธ.ค." ผู้ช่วยกก.ผจก.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ขณะที่มองว่าการส่งออกทั้งปี 52 ยังคงติดลบราว 14.6% ส่วนการนำเข้าติดลบ 26.2% แต่ยังคงเกินดุลการค้าประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์

สำหรับการส่งออกทั้งปี 53 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจะเติบโตจากปี 52 ประมาณ 9-12% ขณะที่มองว่าการนำเข้าจะเพิ่มขึ้นถึง 19-23% เนื่องจากการเทียบกับฐานที่ต่ำของปี 52 ซึ่งการส่งออกติดลบค่อนข้างมาก ส่วนดุลการค้าทั้งปี 53 คาดว่าจะเกินดุลประมาณ 8,600-10,700 ล้านดอลลาร์

นางพิมลวรรณ มองว่า ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกปีนี้น่าจะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับหลายประเทศยังมีความต้องการนำสินค้าเกษตรจากไทยท่ามกลางแนวโน้มราคาที่จะปรับตัวสูงขึ้น จึงเป็นตัวหนุนการส่งออกของไทยในปีนี้ได้มาก

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบที่ต้องระมัดระวัง คือ ความต่อเนื่องในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดเจนนักของประเทศ G3 ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งในสหรัฐฯ และยุโรปเองอัตราการว่างงานยังสูงถึง 10% ซึ่งชี้ให้เห็นว่าความต้องการบริโภคในบางประเทศอาจยังไม่พื้นตัวนัก ประกอบกับกลุ่มประเทศเกิดใหม่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อ และปัญหาฟองสบู่

ส่วนภาวะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้น มองว่าจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป, รองเท้า, เครื่องหนัง เนื่องจากทำให้ไทยเสียเปรียบประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น จีน และเวียดนาม เนื่องจากค่าเงินของประเทศเหล่านี้มีอัตราการแข็งค่าน้อยกว่าเงินบาท

นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)มองว่า การฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาดของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยช่วยให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสสุดท้ายของปีกลับมาขยายตัวเป็นบวก โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าในปี 52 จะหดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ ขณะที่มูลค่าการส่งออกจะติดลบที่ 14.8%

ส่วนปริมาณการนำเข้าน่าจะยังหดตัว 21.5% เนื่องจากการใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวได้ช้า ประกอบกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองและปัญหาการระงับการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าจะหดตัวมากจากฐานสูงในปี 51 มาติดลบที่ 25.9% ส่งผลให้ทั้งปี 52 ไทยจะเกินดุลการค้าราว 20,400 ล้านดอลลาร์

สำหรับในปี 53 สศค.คาดว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ 15.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออกในตลาดโลก ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าคาดว่าจะขยายตัว 27.7% ตามการเร่งตัวขึ้นของการใช้จ่ายภายในประเทศและราคาสินค้านำเข้าในตลาดโลก ส่งผลให้ทั้งปี 53 ดุลการค้าจะเกินดุลประมาณ 7,800 ล้านดอลลาร์

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินไว้ว่าทั้งปี 52 การส่งออกจะติดลบ 13-15% ที่มูลค่าประมาณ 154,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนทั้งปี 53 คาดว่าการส่งออกจะพลิกกลับมาเป็นบวก โดยขยายตัวในช่วง 10-15%

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า ยอดการส่งออกในเดือนธ.ค.52 จะเพิ่มขึ้นราว 20% ซึ่งใกล้เคียงกับเดือน พ.ย.52 ที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 17.2% โดยมองว่าเป็นสภาวะปกติที่การส่งออกมักจะเพิ่มสูงขึ้นในทุกช่วงสิ้นปีอยู่แล้ว ขณะที่ทั้งปี 52 มองว่าการส่งออกจะยังติดลบราว 14%

สำหรับมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 53 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 12% คิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีที่ 32.50 บาท/ดอลลาร์ โดยกลุ่มสินค้าที่จะทำรายได้สูงในปีนี้ คือ สินค้าในกลุ่มเกษตร, กลุ่มอาหาร และกลุ่มยานยนต์ ทั้งนี้การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นประเมินจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมีความโดดเด่นกว่าสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

ขณะเดียวกันปัจจัยลบที่ต้องจับตาในปีนี้ คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง และทิศทางค่าเงินบาท ซึ่งตราบใดที่การแข็งค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับค่าเงินของประเทศคู่แข่งก็จะไม่ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบด้านการส่งออกมากนัก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ